เขียนเมื่อ : วันอังคาร ที่ 17 เดือน มีนาคม พ.ศ.2563 | อ่านแล้ว : 8,523 ครั้ง

"ใช้ชีวิตอย่างไรในยุคที่ COVID -19 ระบาด"


   ขณะนี้การใช้ชีวิตประจำวันล้วนได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ทั้งสิ้น สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ได้จัด เสวนา เรื่อง "จะใช้ชีวิตอย่างไร ในโลกยุค COVID -19" เพื่อหาคำตอบว่าขณะนี้ และหลังจากนี้หากสถานการณ์โควิด-19 มีความรุนแรง มีการระบาดมากขึ้นแล้วคนไทยต้องเตรียมพร้อมรับมือ ชีวิตต่อไปจะเป็นอย่างไร

   ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัย แห่งชาติ(วช.)กล่าวว่าโรคโควิด -19 ส่งผล กระทบเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การใช้ชีวิตของ ผู้คนขณะนี้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ไม่ว่าจะเป็นการทักทาย หลายประเทศทั่วโลกมองว่าอาจต้องเปลี่ยนการทักทายจากการจับมือ กอด ไปเป็นรูปแบบอื่นๆ หรือการอยู่ห่างกัน 2 เมตร ทำให้คนที่อยู่ใกล้กันก็ไม่สื่อสารกัน ต้องยืนห่างกัน เวลาไปทำงาน หรือเข้าสถานที่ ต่างๆ ต้องมีการตรวจอุณหภูมิหรือการกินข้าวในประเทศจีน คนหนึ่งคนจะนั่งกินอาหารเพียงคนเดียวในโต๊ะ มีคิวในการกินอาหาร ทำให้ ไม่มีการปฎิสัมพันธ์ต่อกันเป็นต้น

   "เมื่อมีสถานการณ์โรคระบาดแบบนี้ ทุกคนต้องดูแลสุขภาพอนามัยของตนเอง ป้องกันให้ตนเองไม่ติดเชื้อ อย่างกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือบ่อยๆ และต้องเฝ้าสังเกตอาการ ถ้าตัวเองมีความผิดปกติเมื่อใดต้องรีบไปพบแพทย์ รวมถึงต้องดูแลสังคม คือ ทำอย่างไรไม่ให้ตนเองเป็นผู้แพร่เชื้อ หรือรับเชื้อ โดยต้องหลีกเลี่ยงเข้าไปในพื้นที่ชุมชน และควรปฎิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข"ศ.นพ.สิริฤกษ์ กล่าว

   ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่าสิ่งที่ต้องทำ คือทำอย่างไรให้อยู่กับโรค โควิด-19 ให้ได้ โดยต้องมีระเบียบวินัย ความเข้มงวดในการดูแล ทุกคนดูแลตัวเอง ล้างมือบ่อยๆ และล้างนานๆ ต้องมีความห่างระดับสังคม สวมใส่หน้ากากอนามัย คนปกติใส่หน้ากากผ้า เพื่อให้หน้ากากอนามัยมีเพียงพอต่อบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ป่วย รวมถึง มีมาตรการ เพื่อยืดเวลา ค้นหาองค์ความรู้ใหม่ที่มาใช้ในการรักษา มีเครื่องมือ หรือยา วัคซีน อะไรลดความรุนแรงและลดการสูญเสียให้น้อยที่สุด ทุกคนช่วยกันชะลอโรคนี้ให้มาก เพื่อบรรเทาเบาบางของโรคนี้ให้ได้

   "ทุกคนต้องเรียนรู้ข้อมูล เพื่อเข้าใจ ดูแล ตัวเอง แทนที่จะอยู่กับความหวาดกลัว และควรเลิกนับจำนวนผู้ติดเชื้อ เพราะไม่ว่า อย่างไรเราต้องเรียนรู้และอยู่กับโรคอย่างมีความสุข อีกทั้งระยะของโรคนั้นไม่ว่าจะเป็นระยะที่ 2 หรือระยะที่ 3 เป็นเพียงการ เดินทาง ไม่เกี่ยวกับความรุนแรงของโรค สำหรับผมระยะไม่ได้สำคัญอะไร ทุกคนต้องต่อสู้และเดินไปด้วยกัน" ศ.นพ.ยง กล่าว



ขอบคุณ
ข้อมูล : thaihealth
ภาพ : johjaionline