ข่าวกีฬา

เขียนเมื่อ : วันจันทร์ ที่ 26 เดือน กรกฎาคม พ.ศ.2564 | อ่านแล้ว : 5,220 ครั้ง

โตเกียว 2020 : วิกฤตโควิด-19 ในญี่ปุ่นและชะตากรรมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก


การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ญี่ปุ่นยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน หลังจากผู้มีส่วนร่วมในการแข่งขันตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 ไปกว่า 70 รายแล้ว

  ล่าสุดนายโตชิโร มูโตะ ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิก ก็ไม่ได้ยืนยันว่าจะไม่มีการยกเลิกการแข่งขันแน่นอน โดยบอกว่าต้องคอยจับตาดูตัวเลขผู้ติดเชื้อต่อไป และต้อง "พูดคุยหารือกัน" หากจำเป็น

  คำกล่าวของนายมูโตะมีขึ้นในวันเดียวกันกับที่นายโทมัส บาค ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ ไอโอซี เพิ่งบอกว่า การยกเลิกการแข่งขัน "ไม่เคยเป็นทางเลือกหนึ่ง"

  เมื่อเร็ว ๆ นี้ญี่ปุ่นเพิ่งออกมาประกาศว่าเกมการแข่งขันจะดำเนินไปโดยไร้คนดูในสนาม

ติดเชื้อกี่คนแล้ว

  ถึงตอนนี้ มีคนที่จะมีส่วนร่วมในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก รวมถึงตัวนักกีฬา ตรวจพบว่าติดเชื้อไปแล้ว 71 ราย โดยเมื่อต้นสัปดาห์นี้มีนักฟุตบอลทีมชาติแอฟริกาใต้ 2 คน ซึ่งพักอยู่ในหมู่บ้านนักกีฬา เป็นนักกีฬา 2 คนแรกที่ตรวจพบว่าติดเชื้อ และในเวลาต่อมา ก็มีนักวอลเลย์บอลทีมชาติเช็กอีกคนตรวจพบว่าติดเชื้อ

  นอกจากนักกีฬาแล้ว เจ้าหน้าที่เองก็ติดด้วย โดยส่วนใหญ่เป็นผู้รับเหมาชาวญี่ปุ่นที่ทำงานบริเวณสถานที่จัดงานที่ต่าง ๆ และนอกจากนั้นก็มีคณะกรรมการผู้จัด คณะกรรมการประจำชาติต่าง ๆ เจ้าหน้าที่ติดตั้งเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการแข่งขัน และนักข่าวด้วย

  ทั้งนี้ ตามสถานที่ต่าง ๆ ก็มีกฎระเบียบอย่างเคร่งครัดแล้ว โดยทั้งเจ้าหน้าที่ผู้จัดงานและนักกีฬาก็ต้องเข้ารับการตรวจเชื้อทุกวัน

สถานการณ์โควิดที่ญี่ปุ่น

  แม้ตอนนี้ โตเกียวจะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไปจนถึงวันที่ 22 ส.ค. สถานการณ์ผู้ติดเชื้อก็ยังไม่ดีขึ้น ตั้งแต่ปลายเดือน มิ.ย. มาแล้วที่ญี่ปุ่นมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ หลังจากที่พุ่งสูงสุดเมื่อกลาง พ.ค.

  เมื่อวันที่ 18 ก.ค. กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นรายงานว่ามีผู้ติดเชื้อใหม่ 3,092 ราย ซึ่งตัวเลขเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า

  อย่างไรก็ดี ตัวเลขรายวันน้อยลงมากจากเมื่อเดือน พ.ค. ที่มีมากกว่า 7,000 รายในหลายวัน

  แม้ว่าหลังจากกลางเดือน พ.ค. เป็นต้นมา ตัวเลขผู้ป่วยใหม่รายวันจะลดลงเหลือน้อยกว่า 400 ราย แต่เส้นกราฟที่ดิ่งลงได้กลายเป็นเส้นตรง และก็กำลังพุ่งสูงขึ้น

  ทางการโตเกียวบอกว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อเฉลี่ยรายสัปดาห์สูงกว่า 1,000 ราย ทั้งในวันที่ 17 และ 18 ก.ค.

  ผู้เชี่ยวชาญเคยออกมาบอกว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันในกรุงโตเกียวต้องน้อยกว่า 100 ราย ถึงจะสามารถจัดการแข่งขันได้อย่างปลอดภัย

  ตอนที่ญี่ปุ่นเผชิญการระบาดหนักที่สุดในเดือน พ.ค. โรงพยาบาลในหลายพื้นที่ถึงกับรับมือไม่ไหว และหลายภูมิภาคของญี่ปุ่นก็ต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

  มีการประกาศใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อโตเกียวโอลิมปิกโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นจำกัดเวลาเปิดทำการของบาร์และร้านอาหาร รวมถึงข้อจำกัดเรื่องการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย นอกจากนี้ ผู้อาศัยอยู่ในโตเกียวได้รับการแนะนำให้เดินทางเฉพาะเวลาที่จำเป็นเท่านั้น ให้ใส่หน้ากากอนามัย แล้วก็ให้ทำงานจากบ้าน

ชาวญี่ปุ่นได้รับวัคซีนมากแค่ไหนแล้ว

  มีการเร่งฉีดวัคซีนครั้งใหญ่ในเมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศอย่างโตเกียวและโอซากา แต่ถึงวันที่ 18 ก.ค. มีประชาชนแค่ 33% เท่านั้นที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งโดส และก็มีน้อยกว่า 22% ที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว

  หากลองเทียบกับประเทศในฝั่งตะวันตก มีประชากรในสหราชอาณาจักร 53% ที่ได้รับวัคซีนครบสองโดสแล้ว ส่วนที่สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และเยอรมนี มีประชากรที่ได้รับวัคซีนครบแล้วอยู่ที่ระหว่าง 40-50%

  ญี่ปุ่นเพิ่งเริ่มการฉีดวัคซีนเมื่อเดือน ก.พ. ซึ่งถือว่าช้ากว่าประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ ก่อนหน้านี้ มีช่วงหลายเดือนด้วยกันที่ญี่ปุ่นมีไฟเซอร์เป็นวัคซีนที่ได้รับการอนุมัติเพียงตัวเดียว กระบวนการการอนุมัติเกิดขึ้นช้าเพราะญี่ปุ่นยืนยันที่จะทำการทดลองของตัวเองไปพร้อม ๆ กับที่นานาชาติทำ

  ในอดีต ชาวญี่ปุ่นบางส่วนมีความเคลือบแคลงสงสัยเรื่องวัคซีนเพราะกังวลเรื่องข้างเคียง งานวิจัยโดยอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน พบว่าญี่ปุ่นมีระดับความเชื่อมั่นในวัคซีนโควิด-19 ต่ำที่สุดในบรรดา 15 ประเทศที่ทำการศึกษา

  นอกจากอุปสรรคเรื่องวัคซีนขาดแคลนและเรื่องการขนส่งแล้ว ญี่ปุ่นยังมีกฎหมายที่กำหนดให้เฉพาะแพทย์และพยาบาลเป็นผู้ฉีดวัคซีนได้เท่านั้น แต่ว่าในเวลาต่อมามีการอนุญาตให้ทันตแพทย์ เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ฉุกเฉิน และนักเทคนิคการแพทย์ ช่วยฉีดด้วยได้



ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : bbc,thairath