ข่าวทั่วไป

เขียนเมื่อ : วันพุธ ที่ 29 เดือน กันยายน พ.ศ.2564 | อ่านแล้ว : 4,592 ครั้ง

แนะ 5 ทางรอด ปลอดโรคพื้นที่น้ำท่วม


  กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงสุขภาพผู้ประสบภัยในพื้นที่น้ำท่วม แนะนำ 5 ทางรอดปลอดโรคแก่ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ให้เข้าใจในการจัดการด้านสุขภาพและสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมหลังประสบภัยพิบัติ เพื่อความปลอดภัยและสุขอนามัยที่ดี

  นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย
กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมขณะนี้ หลายจังหวัดยังคงเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก โดยข้อมูลกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย คาดว่าระหว่างวันที่ 27-29 กันยายน 2564 มีฝนตกหนักบางพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ซึ่งหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการเตือนภัยและให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงดังกล่าวได้อพยพไปยังที่ปลอดภัย พร้อมให้เตรียมรับมือและเฝ้าระวังการเตือนภัยจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด ซึ่งการป้องกันไม่เพียงแต่ในช่วงประสบภัยเท่านั้น แต่หลังจากได้รับผลกระทบแล้วประชาชนในพื้นที่ต้องมีความรู้ความเข้าใจในการสร้างสุขอนามัยทีดีเพื่อป้องกันการระบาดของโรคที่จะเกิดขึ้นตามมา

โดยให้จัดการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมให้ถูกต้องตามข้อแนะนำ 5 ทางรอดปลอดโรคของกรมอนามัย ประกอบด้วย

1) อย่าทิ้งขยะ อุจจาระ เศษอาหารลงในน้ำ ให้ใส่ถุงดำ มัดปากถุงให้แน่น
2) อย่าเล่นน้ำเน่าขัง เชื้อโรคอาจเข้าตา ปาก จมูก และบาดแผล อันตรายถึงตายหากสัมผัสน้ำเน่าเสียต้องล้างด้วยสบู่และน้ำสะอาด
3) กินอาหารปรุงสุกใหม่ ดื่มน้ำสะอาด
4) หลังสถานการณ์ปกติ ให้ล้างบ้านเรือน ห้องสุขา ภาชนะอุปกรณ์ต่าง ๆ
5) ช่วยกันล้างตลาด ประปาชุมชน และสถานที่สาธารณะตามหลักสุขาภิบาล เพื่อป้องกันโรคบิด อหิวาตกโรค ไทฟอยด์ ท้องร่วง ตาแดง โรคฉี่หนู แผลเน่า สมองอักเสบ เป็นต้น

  การช่วยเหลือพื้นที่น้ำท่วมที่ผ่านมา กรมอนามัยได้มอบหมายให้ศูนย์อนามัยเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรและอุปกรณ์ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมรองรับกรณีที่เกิดอุทกภัยในพื้นที่เสี่ยง เช่น การจัดการสุขาภิบาลอาหาร การจัดการขยะ จัดหาน้ำสะอาด และชุดนายสะอาด โดยมีศูนย์อนามัยได้ลงพื้นที่ดำเนินการช่วยเหลือ อาทิ ศูนย์อนามัยที่ 2 พิษณุโลก ศูนย์อนามัยที่ 3 นครสวรรค์ ศูนย์อนามัยที่ 4 สระบุรี ศูนย์อนามัยที่ 6 ชลบุรี และศูนย์อนามัยที่ 9 นครราชสีมา เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับวิธีดูแลสุขภาพตนเอง พร้อมมอบสิ่งสนับสนุน ได้แก่ ชุดอาหารแห้ง อุปกรณ์ชุดบรรเทาสาธารณภัย อุทกภัย และชุดนายสะอาด เพื่อดูแลสุขภาพประชาชนให้ปลอดภัย และป้องกันโรคที่มากับอาหารและน้ำที่ไม่สะอาด

  นอกจากนี้ ส่วนกลาง ได้ดำเนินการจัดส่ง “วัสดุอุปกรณ์ช่วยเหลือน้ำท่วม” สนับสนุนศูนย์อนามัย ซึ่งภายในประกอบด้วย คลอรีนผง รองเท้าบู๊ท ถุงดำ ถุงแดง น้ำยาฆ่าเชื้อ แอลกอฮอล์น้ำ เจลแอลกอฮอล์ น้ำยาล้างจาน สบู่น้ำ ถุงมือยาง และไม้กวาดทางมะพร้าว

  สำหรับศูนย์พักพิงที่ทางราชการจัดเตรียมช่วยเหลือผู้ประสบภัยนั้น ยังคงต้องเฝ้าระวังและคัดกรองความเสี่ยงโรคโควิด-19 และยังต้องคุมเข้มสุขอนามัยส่วนบุคคล การปรุงประกอบอาหาร และการจัดการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมเพื่อป้องกันเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์แมลงและการระบาดของโรค หากมีจุดปรุงประกอบอาหารต้องเลือกพื้นที่หรือสถานที่ทำครัวให้ห่างจากห้องส้วมและที่เก็บขยะ ที่ระบายน้ำเสีย หรือที่เก็บสารเคมี

  โดยหลีกเลี่ยงการเตรียมหรือปรุงอาหารบนพื้น ควรมีโต๊ะเตรียมปรุงอาหารที่สูงจากพื้นป้องกันการปนเปื้อน ต้องทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคบริเวณโต๊ะที่ใช้เตรียมปรุงอาหาร เตาหุงต้มอาหารเป็นประจำทุกวัน โดยเฉพาะเขียงควรแยก เขียงหั่นเนื้อ หั่นผัก และอาหารปรุงสุก เขียงที่ใช้หั่นเนื้อสัตว์ต้องล้าง ขจัดคราบไขมันด้วยน้ำยาล้างจาน แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด และห้ามนำผ้าที่สกปรกมาเช็ดเพราะจะทำให้เชื้อโรคจากผ้าปนเปื้อนอาหารที่มีการหั่น สับ บนเขียงได้ ที่สำคัญ ควรล้างมือทุกครั้งก่อนกินและหลังใช้ห้องน้ำห้องส้วม



ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : thaihealth