ข่าวทั่วไป

เขียนเมื่อ : วันอังคาร ที่ 7 เดือน กันยายน พ.ศ.2564 | อ่านแล้ว : 4,918 ครั้ง

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ “พืชกระท่อม”หลังได้รับการปลดจากสถานะ จากยาเสพติดให้โทษ สู่สมุนไพรไทย มีคุณมีโทษอย่างไร?


  หลังจากพืชกระท่อม มีสถานะเป็น "ยาเสพติดให้โทษ" ภายใต้ พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษมานานถึง 41 ปี เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2564 ที่ผ่านมา พืชกระท่อมได้รับการปลดออกจากสถานะยาเสพติดมาเป็นพืชที่ประชาชนปลูกเพื่อการบริโภคและขายได้ทั่วไป แม้แต่ผู้ต้องขังหรืออยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับพืชกระท่อมก็จะได้รับการปล่อยตัวหรือยุติคดีโดยไม่ถือว่าเคยกระทำความผิด พืชกระท่อมมีสรรพคุณเป็นยา แต่หากบริโภคมากเกินไป ก็มีโทษเช่นเดียวกัน

  พืชกระท่อมมีสถานะเป็น "ยาเสพติดให้โทษ" ภายใต้ พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษมานานถึง 41 ปี เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2564 ที่ผ่านมา พืชกระท่อมได้รับการปลดออกจากสถานะยาเสพติดมาเป็นพืชที่ประชาชนปลูกเพื่อการบริโภคและขายได้ทั่วไป แม้แต่ผู้ต้องขังหรืออยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับพืชกระท่อมก็จะได้รับการปล่อยตัวหรือยุติคดีโดยไม่ถือว่าเคยกระทำความผิด

  พืชกระท่อมเป็น 1 ในพืช 4 ชนิดที่อยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ของ พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ได้แก่ กัญชา พืชกระท่อม พืชฝิ่น และเห็ดขี้ควาย

  แต่เมื่อวันที่ 26 พ.ค.2564 ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2564 ซึ่งมีสาระสำคัญคือการปลดพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดให้โทษ ให้มีผลบังคับใช้ 90 วันนับแต่วันประกาศซึ่งตรงกับวันะที่ 24 ส.ค. 2564 ที่ผ่านมา

  นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อธิบายว่า พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษฉบับที่ 8 นี้ จะส่งผลให้ประชาชนสามารถปลูกและบริโภคกระท่อมตามวิถีชาวบ้าน รวมทั้งยังซื้อหรือขายใบกระท่อมโดยไม่ผิดกฎหมาย แต่หากมีการนำไปผสมยาเสพติดอื่น ๆ เช่น "สี่คูณร้อย" ซึ่งเป็นสารเสพติดที่เกิดจากการนำยาน้ำแก้ไอมาผสมกับใบกระท่อม ยังถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมาย

  นอกจากนี้ จะมีการปล่อยผู้กระทำความผิดตามกฏหมายพืชกระท่อมจำนวน 1,038 ราย โดยถือว่าไม่เคยกระทำความผิด สำหรับผู้ถูกจับกุมหรือจำเลยในชั้นต่าง ๆ จะได้ดำเนินการตามแนวทางการปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปล่อยตัวผู้กระทำความผิดและผู้ต้องขังคดีความผิดเกี่ยวกับพืชกระท่อมต่อไป แต่ผู้ที่ทำผิดในคดีที่เกี่ยวกับสารเสพติด "สี่คูณร้อย" จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์จากกฎหมายนี้

  ข้อมูลจากกระทรวงยุติธรรมระบุว่า การปลดพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดให้โทษทำให้ลดค่าใช้จ่ายทั้งในส่วนของภาครัฐและผู้ต้องหาหรือจำเลยถึง 1.69 พันล้านบาท โดยคำนวณจากค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคดีที่ 76,612 บาท ซึ่งคดีข้อหาพืชกระท่อมที่ขึ้นสู่ศาลตั้งแต่ 1 ม.ค. 2563 - 30 มิ.ย. 2564 มีมากถึง 22,076 คดี

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับกระท่อม เมื่อกลับสู่สถานะ "พืชยา" ซึ่งมีการใช้กันมาตั้งแต่สมัยโบราณ

  กระท่อมมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Mitragyna speciosa (Korth.) Havil. เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์เข็มและกาแฟ (Rubiaceae) เป็นไม้ยืนต้น สูงประมาณ 4-16 เมตร เติบโตได้ดีในที่ชุ่มชื้น ความชื้นสูง ดินอุดมสมบูรณ์ และมีแสงแดดปานกลาง กระท่อมจัดเป็นพืชที่มีสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท เป็นพืชพื้นเมืองของประเทศไทยและมาเลเซีย สามารถพบได้ในเขตร้อนและกึ่งร้อนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทวีปแอฟริกา

สรรพคุณทางยา

  สมัยโบราณมีการใช้ใบกระท่อมเพื่อรักษาการติดเชื้อในลำไส้ บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ ลดไข้ บรรเทาอาการไอและท้องร่วง โดยใช้ใบสดหรือใบแห้งนำมาเคี้ยว สูบ หรือชงเป็นน้ำชา นอกจากนี้ยังมีการใช้กระท่อมในกลุ่มของผู้ใช้แรงงานเพื่อกดความรู้สึกเมื่อยล้า ทนต่อการทำงานกลางแจ้ง ทนร้อน ทนแดด และสามารถทำงานได้ยาวนานมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการใช้เพื่อลดอาการขาดยาจากสิ่งเสพติดอื่น เช่น ฝิ่นและมอร์ฟีน เป็นต้น เนื่องจากมีผลข้างเคียงน้อยกว่ามอร์ฟีนเมื่อใช้ในระยะเวลาที่จำกัด การใช้แทนแอมเฟตามีน (ยาบ้า) เพื่อเพิ่มพละกำลัง ซึ่งในปัจจุบันพบว่ามีการใช้กระท่อมในหลายประเทศทั่วโลกเกินกว่าขอบเขตทางภูมิศาสตร์ที่พบพืชชนิดนี้

โทษของกระท่อม

  กระท่อมมีฤทธิ์ทำให้เกิดการเสพติดและมีอาการไม่พึงประสงค์จากอาการขาดยาได้ ซึ่งมีรายงานปัญหาและอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้กระท่อมจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก

มีสารอะไรในพืชกระท่อมบ้าง

  สารที่พบในกระท่อมมากที่สุดเป็นสารกลุ่ม alkaloids และสารกลุ่มอื่นๆ ที่พบรองลงมา เช่น flavonoids terpenoid และ saponins เป็นต้น ใบกระท่อมมีปริมาณ total alkaloids ประมาณ 0.5 – 1.5% โดยพบ mitragynine ซึ่งเป็นสารกลุ่ม indole alkaloids และเป็นสารหลักในการออกฤทธิ์บรรเทาอาการปวด โดยกระตุ้นผ่าน opioid receptors พบสาร mitragynine มากถึง 66% ของสารสกัดใบกระท่อมจากประเทศไทย แต่พบเพียง 12% จากสารสกัดใบกระท่อมจากประเทศมาเลเซีย

  นอกจากนี้ยังพบอนุพันธ์อื่นๆ เช่น speciogynine, paynantheine และ speciociliatine เป็นต้น แต่พบในปริมาณน้อยกว่า 1% ของสารแต่ละชนิด mitrgynine ยังออกฤทธิ์ต้านอักเสบโดยกดการหลั่งสาร prostaglandin E2 (PGE-2) ในวิถี cyclooxygenase 2 (COX-2) อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า 7-hydroxymitragynine ซึ่งพบแค่ 2% จากใบกระท่อม มีฤทธิ์ยับยั้งการตอบสนองต่อความเจ็บปวด (antinoceptive) ในหนู mice ได้ดีกว่า morphine 13 เท่า และดีกว่า mitragynine 46 เท่า โดยออกฤทธิ์จำเพาะต่อ µ- และ κ-receptors นอกจากนี้กระท่อมยังมีผลต่อระบบประสาทและความจำ ผลต่อพฤติกรรม และสามารถทำให้เกิดอาการติดยาได้ อย่างไรก็ตามกลไกการออกฤทธิ์อื่นๆ ของสารจากกระท่อมยังต้องมีการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม

ปลูกพืชกระท่อมได้ ไม่ผิดกฎหมายแล้ว

  นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อธิบายว่า พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษฉบับที่ 8 นี้ จะส่งผลให้ประชาชนสามารถปลูกและบริโภคกระท่อมตามวิถีชาวบ้าน รวมทั้งยังซื้อหรือขายใบกระท่อมโดยไม่ผิดกฎหมาย แต่หากมีการนำไปผสมยาเสพติดอื่น ๆ เช่น "สี่คูณร้อย" ซึ่งเป็นสารเสพติดที่เกิดจากการนำยาน้ำแก้ไอมาผสมกับใบกระท่อม ยังถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมาย

  ก่อนหน้านี้การปลูกและซื้อขายกระท่อมเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 7 จัดกระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 เช่น กัญชา พืชกระท่อม โดยห้ามซื้อ ขาย นำเข้า ส่งออก หรือครอบครอง ซึ่งครอบคลุมถึงการห้ามปลูก ถ้าตรวจพบต้องตัดทิ้งและทำลาย โดยมีบทกำหนดโทษต้องระวางโทษจำคุกสูงสุด 15 ปี หรือปรับสูงสุดหนึ่งล้านห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

  ในประเทศมาเลเซียกระท่อมเป็นพืชที่ถูกกฎหมาย จนกระทั่งปี 2546 ได้จัดกระท่อมให้อยู่ในพระราชบัญญัติยาพิษ และแม้ว่าจะผิดกฎหมายแต่ยังมีการใช้อย่างแพร่หลายเพราะหาซื้อได้ง่าย ส่วนในประเทศออสเตรเลียและเมียนมาร์ กระท่อมถูกควบคุมภายใต้กฎหมายยาเสพติด กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป เช่น เดนมาร์ก โปแลนด์ และสวีเดน ได้จัดให้กระท่อม และ/หรือ mitragynine และ 7-hydroxymitragynine เป็นยาควบคุม

  อย่างไรก็ตาม ในหลายประเทศมีการซื้อขายกระท่อมได้อย่างถูกกฎหมาย เช่น ในประเทศอินโดนีเซียมีการปลูกกระท่อมอย่างถูกกฎหมายและมีการส่งออกไปประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ส่วนในประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และเยอรมัน ไม่ได้มีกฎหมายควบคุมการใช้กระท่อม มีเพียงแค่การเฝ้าระวัง ในประเทศอังกฤษมีการขายกระท่อมในหลายรูปแบบ เช่น ใบสด ใบแห้ง ผง และสารสกัดเรซิน เป็นต้น โดยผู้บริโภคสามารถซื้อได้ตามร้านกาแฟต่างๆ หรือทางอินเทอร์เน็ตโดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์

กระท่อมมีทั้งคุณและโทษ ควรบริโภคแต่พอเหมาะ

  กระท่อมมีการใช้มายาวนานตั้งแต่อดีตในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อบรรเทาหรือรักษาโรคต่างๆ และงานวิจัยก็ได้สนับสนุนฤทธิ์ด้านต่างๆ ของกระท่อม เช่น บรรเทาอาการปวด บวม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของกระท่อมในการนำมาพัฒนาเป็นยาได้

  อย่างไรก็ตามกระท่อมยังมีฤทธิ์ที่ทำให้เกิดการเสพติดและมีอาการไม่พึงประสงค์จากอาการขาดยาได้ ซึ่งมีรายงานปัญหาและอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้กระท่อมจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ดังนั้นควรมีการวิจัยเกี่ยวกับกลไกการออกฤทธิ์ต่างๆ ผลข้างเคียงจากการใช้และความเป็นพิษ เพื่อนำมาพัฒนาใช้ในทางการแพทย์ ตลอดจนการออกกฎหมายควบคุมเพื่อให้มีการใช้ประโยชน์จากกระท่อมได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม ปลอดภัย และเกิดประโยชน์สูงสุด



ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : BBC THAI, อาจารย์ ดร. ภก. สมนึก บุญสุภา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล