เขียนเมื่อ : วันจันทร์ ที่ 12 เดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ.2561 | อ่านแล้ว : 858 ครั้ง

หวาน ซ่อน ร้าย


“ความหวาน” ที่กลายเป็นส่วนหนึ่งในรสชาติอาหารการกินของคนไทยมาอย่างยาวนาน ก็เพราะว่า “ความหวาน” ที่มากไปนี่ล่ะ ที่ทำให้คนกินเข้าไปเกิดอาการเจ็บป่วยและนำมาสู่การเป็นโรคต่างๆ ตามมา ลองนึกดูว่า...ความหวานอยู่ในอาหารแบบไหนในชีวิตประจำวันของเราบ้าง เช่น กาแฟ น้ำอัดลม นมเปรี้ยว ชาเขียว นมเย็น โกโก้ ขนมปัง เค้ก ฮันนี่โทสต์ และอาหารแทบทุกชนิด ความหวานที่พอดีกับชีวิตประจำวันของเราคือ ไม่เกิน 4-6 ช้อนชา!! แต่ในอาหารแต่ละชนิดที่ว่ามานั้นส่วนใหญ่เกิน 6 ช้อนชาทั้งสิ้น!!

มาดูกันว่าเครื่องดื่มในร้านสะดวกซื้อ มีน้ำตาลซ่อนอยู่เท่าไหร่

น้ำส้ม25% น้ำตาล 11.2 ช้อนชา / 44.8 กรัม
น้ำอัดลม น้ำตาล 8.7 ช้อนชา / 34.8 กรัม
ชาเขียวรสน้ำผึ้ง (กล่อง) น้ำตาล 7.5 ช้อนชา / 30.0 กรัม
เครื่องดื่มชูกำลัง น้ำตาล 7.5 ช้อนชา / 30.0 กรัม
นมเปรี้ยวขวดเล็ก น้ำตาล 4.4 ช้อนชา / 17.6 กรัม
กาแฟกระป๋อง น้ำตาล 4.3 ข้อนชา /17.2 กรัม

แค่น้ำขวดเล็กๆ เพียง 1 ขวดก็ทำให้เรากินน้ำตาลมากเกินกว่าที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันแล้ว ที่แย่กว่านั้นคือ เมื่อน้ำตาลเข้าสู่ร่างกายจะถูกเปลี่ยนเป็นพลังงาน แต่ถ้ามากเกินไปจะถูกเปลี่ยนเป็นไขมันสะสม ในร่างกาย สรุปง่าย ๆ ว่า ถ้าเรากินน้ำตาลมากเกินไปความอ้วนก็จะถามหาแน่นอน แต่ไม่ใช่แค่ความอ้วนอย่างเดียวเท่านั้น เพราะยิ่งไขมันมาก ยิ่งกระทบต่ออวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น

หัวใจ ไขมันอุดตันในหลอดเลือด ทำให้หัวใจต้องสูบฉีดแรงขึ้น ตับ ไขมันช่องท้อง ขัดขวางการเผาผลาญน้ำตาลในเซลล์ตับ จึงต้องทำงานหนักมากขึ้นในการผลิตอินซูลิน สมอง ไขมันสะสมตามผนังเส้นเลือด เกิดโรคเส้นเลือดในสมองตีบและอาจเสียชีวิตกะทันหันได้ ปอด ไขมันช่องท้องเพิ่มขึ้น ทำให้ปอดขยายตัวไม่เต็มที่ส่งผลให้ระบบหายใจผิดปกติ ถุงน้ำดี ไขมันช่องท้องทำให้น้ำดีมีภาพข้น และเกิดนิ่วในถุงน้ำดี หัวเข่า ไขมันช่องท้อง และน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นทำให้เข่าต้องรับน้ำหนักมากขึ้น เกิดข้อเข่าเสื่อม

จากข้อมูลของ Global Agricultural Information Network ปี 2557 พบว่า คนไทยบริโภคน้ำตาลถึง 28.4 ช้อนชาต่อวัน!! ซึ่งสูงกว่าคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกที่แนะนำไว้แค่วันละ 6 ช้อนชาถึง 4.7 เท่า ข้อมูลดังกล่าวนี้ทำให้เราทำนายการเจ็บป่วยของคนไทยจากความหวานที่กินเข้าไปได้อย่างไม่ลังเล แต่ทำไมเราต้องปล่อยให้เจ็บป่วยก่อนถึงจะตระหนักและรักษา?


ที่มา : thaihealth.or.th