เขียนเมื่อ : วันจันทร์ ที่ 8 เดือน พฤษภาคม พ.ศ.2560 | อ่านแล้ว : 1,282 ครั้ง

กินเค็ม..มหันตภัยร้ายโรคไต


โรคความดันโลหิตสูงและโรคไตเรื้อรังเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของคนไทย จากการศึกษาความชุกของโรค พบว่ามีประชากรไทยเป็นความดันโลหิตสูงถึง 1 ใน 4 ของผู้ใหญ่ หรือกว่า 10 ล้านคน และพบว่ามีประชากรไทยเป็นโรคไตเรื้อรังประมาณ 7 ล้านคน
อุปสรรคสำคัญที่ทำให้การควบคุมความดันโลหิตไม่เป็นไปตามเป้าหมาย คือ การบริโภคเกลือในปริมาณมาก มีการเติมเกลือหรือน้ำปลาในการปรุงรสชาติอาหาร โดยเฉพาะคนไทย มีพฤติกรรมการบริโภคเกลือสูงถึง 2 เท่าของปริมาณที่ร่างกายต้องการ ซึ่งผลเสียที่ตามมาจากการบริโภคอาหารเค็ม คือ โซเดียมสูง ซึ่งส่งผลเสียให้มีความดันโลหิตสูง เพิ่มการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะ และส่งผลเสียต่อไตโดยตรง

โซเดียมสูงส่งผลต่อร่างกายอย่างไร?
การรับประทานโซเดียมในปริมาณที่มากหรือน้อยเกินไป ล้วนส่งผลเสียต่อร่างกายทั้งสิ้น จากการสำรวจของกรมอนามัยร่วมกับสถาบันโภชนศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าคนไทยส่วนใหญ่รับประทานโซเดียมมากถึง 2 เท่าของปริมาณที่แนะนำ ซึ่งผลเสียของการรับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูงมี ดังนี้
1. เกิดการคั่งของเกลือและน้ำในอวัยวะต่างๆ แม้ว่าโซเดียมจะมีความจำเป็นต่อร่างกาย แต่หากมีมากเกินไปก็จะทำให้เกิดการคั่งของเกลือและน้ำในร่างกาย ในผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง ไตยังสามารถกำจัดเกลือและน้ำส่วนเกินได้ทัน แต่ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง มักจะไม่สามารถกำจัดเกลือและน้ำส่วนเกินในร่างกายได้ ทำให้เกิดภาวะคั่งของเกลือและน้ำในอวัยวะต่างๆ เช่น แขน ขา หัวใจ และปอด ทำให้แขน ขา บวม เหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก นอนราบไม่ได้ ในผู้ป่วยโรคหัวใจ น้ำที่คั่งในร่างกายจะทำให้เกิดภาวะหัวใจวายได้ง่ายขึ้น
2. เกิดผลเสียต่อไตจากการที่มีการคั่งของน้ำและความดันโลหิตสูง ทำให้ไตทำงานหนักขึ้น เพื่อเพิ่มการกรองโซเดียมและน้ำส่วนเกินของร่างกาย ผลที่ตามมาคือการเกิดความดันในหน่วยไตสูงขึ้น และเกิดการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะมากขึ้น นอกจากนี้ ยังกระตุ้นให้ร่างกายสร้างสารบางอย่างซึ่งมีผลทำให้ไตเสื่อมเร็วขึ้น
3. ทำให้ความดันโลหิตสูง การรับประทานโซเดียมมากเกินไปทำให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง คนอ้วน และผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดยภาวะความดันโลหิตสูงทำให้เกิดผลเสียต่อหลอดเลือดในอวัยวะต่างๆ เช่น หัวใจ และสมอง เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ตามมา นอกจากนี้ ยังพบว่าในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง หากรับประทานโซเดียมในปริมาณที่เหมาะสมควบคู่กับยาลดความดันโลหิต สามารถลดความดันโลหิตได้ดีกว่าผู้ที่รับประทานยาลดความดันโลหิตแต่ได้รับโซเดียมเกินกำหนด