ข่าวทั่วไป

เขียนเมื่อ : วันจันทร์ ที่ 6 เดือน กันยายน พ.ศ.2564 | อ่านแล้ว : 4,833 ครั้ง

สัญญาณอาการเหล่านี้ อาจบอกได้ว่า “โควิด-19 ลงปอด”


แน่นอนว่า อาการป่วยของโรคโควิด-19 นั้น ย่อมมีความแตกต่างกันออกไป แล้วแต่ละคน แต่ถ้าเชื้อไวรัสลงสู่ปอดแล้ว อาจจะมีอาการที่มากกว่าแค่อาการหวัด บางรายอาจจะมีถึงขั้นอาการลงปอดเลยก็ได้ทีเดียว ฉะนั้น มาสังเกตอาการคร่าว ๆ ว่า หากเชื้อโควิด-19 ลงปอดแล้วหรือยังนั้น เป็นอย่างไร และควรจะทำอย่างไร

วิธีสังเกตว่าเชื้อลงปอดแล้วหรือยัง


- มีอาการไข้มากกว่า 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป
- มีอาการไอ ไม่ว่าจะเป็นทั้งไอแห้ง หรือ ไอแบบมีเสมหะ
- มีการหายใจลำบาก หรือ หายใจได้แบบไม่เต็มปอด
- มีการเหนื่อยหอบเมื่อมีการออกแรงเล็กน้อย เช่น เดินขึ้นลงบันได หรือ ออกกำลังกายเบา ๆ
- แน่นหน้าอก

วิธีทดสอบอาการเหนื่อย

โดยทาง รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ นิธิพัฒน์ เจียรกุล นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ได้ให้ข้อมูลวิธีทดลองอาการเหนื่อย หรือ Sit-to Stand test ว่า มีอาการเหนื่อยผิดปกติหรือไม่ ซึ่งทำการได้โดยทำการลุกนั่งจากเก้าอี้โดยไม่จับเก้าอี้โดยไม่จับเก้าอี้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 1 นาที แล้วสังเกตอาการรวมถึงทำการวัดค่าออกซิเจนหลังทำ ถ้าวัดค่าออกซิเจนหลังทำการลุกนั่งแล้วได้ค่าต่ำกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ อาจจะเป็นสัญญาณว่าเชื้อโควิด-19 นั้น ลงปอดแล้วเรียบร้อย

เมื่อเชื้อโควิด-19 ลงปอดก็ต้องดูแลตนเอง

ถ้าทราบว่าเชื้อโควิด-19 มีการลงปอด จะทำการดูแลตนเองอย่างไร เรื่องนี้ ทาง นายแพทย์ธนีย์ ธนัยวัน อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรคปอด ได้ให้คำแนะนำดังนี้

- ควร ‘นอนคว่ำ’ ในระหว่างรอเตียง

ซึ่งการนอนคว่ำนั้น เพื่อไม่ให้ปอดมีการกดทับ และทำงานได้ดีขึ้น โดยทำการนอนคว่ำกอดหมอนไว้ที่หน้าอก เพื่อให้นอนสบายขึ้น ซึ่งหากบางรายหายใจไม่ออก ให้นอนกึ่งตะแคงกึ่งคว่ำ 45 องศามาทางเตียง

หากในกรณีที่ตั้งครรภ์ ให้ทำการนอนตะแคงทางด้านซ้าย เพราะอาจจะทำให้น้ำหนักของมดลูกไม่ไปกดเส้นเลือดดำใหญ่ ทำให้เลือดไหลเวียนได้สะดวก

- ทำการขยับขาบ่อย ๆ เพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือด

ให้มีความพยายามขยับขาบ่อยๆ เพื่อให้เลือดไหลเวียนสะดวก และป้องกันการเกิดลิ่มเลือด เช่น ยืดงอขา หรือยืดเหยียดปลายเท้า เป็นต้น

- ดื่มน้ำมาก ๆ รับประทานอาหารให้เพียงพอ

ให้ดื่มน้ำในประมาณ 2 – 2.5 ลิตรต่อวัน แต่อย่าดื่มมากเกินไปเพราะจะส่งผลเสียทำให้เกลือแร่ในร่างกายเจือจางลง ขณะเดียวกัน ถ้ายังสามารถรับประทานอาหารได้ ให้พยายามรับประทานให้เพียงพอ แต่ถ้าเป็นในกรณีที่ทานอาหารไม่ได้เลย ให้ทำการดื่มน้ำเกลือแร่ทดแทน

- รับประทานยาประจำตัวอย่างสม่ำเสมอ

ไม่ควรงดการทานยาประจำตัว อย่าขาดยา แต่ถ้ามีโรคประจำตัวที่ต้องรับประทานยาขับปัสสาวะอยู่ แล้วดื่มน้ำไม่ได้ ตรงนี้ให้งดยาไปก่อน

ขณะเดียวกัน ถ้ามีการทานยาประเภทโรคความดันโลหิตสูงอยู่ ควรทำการวัดความดันบ่อยๆ ถ้าพบว่าความดันต่ำกว่า 90/60 ควรงดยาความดันโลหิตสูง เพราะไม่ควรให้ความดันต่ำไปกว่านั้น ซึ่งถ้าความดันต่ำมากจะอันตราย อาจช็อกหรือหมดสติได้

แต่ถ้าหากทานยาประเภทโรคเบาหวานอยู่ ควรตรวจน้ำตาลสม่ำเสมอ ๆ พยายามมีการตรวจ 4 เวลาแล้วจดไว้ ถ้าพบว่าน้ำตาลต่ำประมาณ 100 และทานอาหารไม่ได้ ทานได้น้อย ควรงดฉีดอินซูลิน หรืองดยากลุ่มที่ลดน้ำตาลในเลือด เพราะถ้ามีภาวะน้ำตาลต่ำในขณะที่ป่วยโควิดจะเป็นอันตรายได้

- เตรียมยาพาราเซตามอล ไว้รับประทานเวลามีไข้

ถ้ามีไข้ ให้รับประทานยาพาราเซตามอลเท่านั้น หากเริ่มมีไข้ต่ำๆ ให้รับประทานพาราฯ ได้เลย อย่ารอให้ไข้สูงหรือหนาวสั่น เพราะจะยิ่งทำให้ร่างกายอ่อนแอ *แต่ไม่แนะนำให้รับประทานยาลดไข้กลุ่ม NSAID เช่น ibuprofen, naproxen, mefenamic acid (Ponstan), diclofenac (Voltaren) เพราะอาจทำให้ไตวายได้*

ขณะเดียวกัน ทางด้านยาสมุนไพร เช่น ฟ้าทะลายโจร/กระชายขาว รับประทานได้แต่ต้องทานตามปริมาณกำหนดของกรมการแพทย์แผนไทย เพราะถ้าทานเกินปริมาณกำหนดอาจทำให้ตับวายได้

ส่วนผู้ป่วยโรคตับ ห้ามรับประทาน เพราะอาจทำให้ตับวายได้ หรือผู้ที่แพ้ยาพาราเซาตามอล แนะนำให้เช็ดตัวเพื่อลดไข้

- ถ้าเหนื่อยมาก อย่าเข้าห้องน้ำ

ถ้ามีอาการเหนื่อยมาก อย่าไปเข้าห้องน้ำ เพราะการเบ่งถ่าย และลุกนั่งอาจทำให้เป็นลมหมดสติ หรือหัวใจหยุดเต้นได้ ควรขับถ่ายบริเวณข้างเตียงเลยดีที่สุด ใช้กระโถน กระดาษ หรืออะไรที่หาได้

หากมีความจำเป็นที่จะเข้าห้องน้ำ ห้ามล็อกประตูเด็ดขาด และควรบอกคนอื่น ๆ ในครอบครัวด้วย เนื่องจากมีหลายรายที่เหนื่อยแล้วไปเข้าห้องน้ำ เกิดเป็นลมและหัวใจหยุดเต้น

เช่นเดียวกัน ส่วนที่สำคัญที่สุด คือ ควรหมั่นมีการติดต่อญาติ ครอบครัว หรือคนใกล้ชิดอย่างสม่ำเสมอ



ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : mgronline