ข่าวทั่วไป

เขียนเมื่อ : วันอังคาร ที่ 24 เดือน สิงหาคม พ.ศ.2564 | อ่านแล้ว : 4,938 ครั้ง

ห่วงกลุ่มเปราะบางเสี่ยงโควิด เร่งฉีดวัคซีนป้องกัน


จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้กลุ่มเปราะบางและกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง มีความเสี่ยงที่จะติดโควิด-19 ได้ง่าย ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงเร่งฉีดวัคซีน เพื่อป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิต

ทางกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณาสุข ได้ย้ำเตือนกลุ่มเปราะบางและกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง ให้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ฟรี ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อป้องกันป่วยหนักและเสียชีวิต โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ที่ยังคุมความดันได้ไม่ดี ซึ่งขณะนี้มีประมาณ 2.4 ล้านคนทั่วประเทศ ขอให้กินยารักษาอย่างต่อเนื่อง กินอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกาย เพื่อให้ระดับความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถฉีดวัคซีนได้คือค่าตัวบนไม่เกิน 140 และค่าตัวล่างไม่เกิน 90 มิลลิเมตรปรอท

นายแพทย์ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ตลอดเดือนสิงหาคมนี้ กรมควบคุมโรคได้เร่งรัดฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้แก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมายทั่วประเทศเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในระดับบุคคลและภูมิคุ้มกันหมู่ โดยต้องฉีดครอบคลุมประชากรให้ได้ร้อยละ 70 จึงจะสามารถลดการแพร่ระบาด ลดอัตราป่วยหนักและลดการเสียชีวิตจากโรคโควิด 19 ได้โดยเร็ว โดยเดือนนี้ตั้งเป้าฉีดให้ได้ 10 ล้านโดส ซึ่งขณะนี้ได้จัดส่งวัคซีนโควิดไปให้ทุกจังหวัดแล้ว

จึงขอให้ประชาชนทุกพื้นที่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเปราะบาง 3 กลุ่มคือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่มป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่ม ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคอ้วนน้ำหนักตัวมากกว่า 100 กิโลกรัม โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวาย และกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ให้รีบเข้ารับบริการได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้านทุกแห่งโดยเร็ว โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

ที่เป็นห่วงคือ ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งมีรายงานเสียชีวิตจากโรคโควิดมากเป็นอันดับ 1 เนื่องจากข้อมูลทางการแพทย์พบว่า เมื่อคนป่วยกลุ่มนี้ติดเชื้อโควิด 19 จะทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะได้ร้อยละ 17 ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบร้อยละ 7 ระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลวร้อยละ 9 และทำให้เกิดภาวะหัวใจวายในที่สุด จึงจำเป็นต้องรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันโรคเพียงพอ หากติดเชื้อก็จะช่วยลดความรุนแรงและป้องกันการเสียชีวิตได้ โดยผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง จะสามารถฉีดวัคซีนได้จะต้องมีระดับความดันโลหิต ค่าตัวบนไม่เกิน 140 และค่าตัวล่างไม่เกิน 90 มิลลิเมตรปรอท” นายแพทย์ปรีชา กล่าว

ทางด้านนายแพทย์กฤษฎา หาญบรรเจิด ผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กล่าวว่า โรคความดันโลหิตสูง เป็นโรคที่ต้องดูแลตนเองอย่างสม่ำเสมอและควบคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ขณะนี้มีผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงขึ้นทะเบียนรักษาในสถานบริการสาธารณสุขทั่วประเทศไม่รวม กทม. กว่า 6 ล้านคน ในจำนวนนี้ร้อยละ 40 หรือประมาณ 2.4 ล้านคน พบว่าเป็นผู้ที่ไม่สามารถควบคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้

โดยผู้ที่ควบคุมความดันโลหิตได้ไม่ดี นอกจากจะเป็นอันตรายต่อตนเองคือเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น โรคหลอดเลือดสมองแตกหรือตีบ เป็นอัมพฤกษ์อัมพาต โรคหัวใจ ไตวาย และหากติดเชื้อโควิด-19 จะมีความรุนแรงสูงกว่าคนทั่วไป และผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมได้ดี ดังนั้นจึงต้องมีวินัยในการดูแลตนเอง เพื่อให้เข้ารับบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้โดยเร็วที่สุด

นายแพทย์กฤษฎา กล่าวต่อว่า วิธีปฏิบัติตัวเพื่อให้ควบคุมระดับความดันโลหิตเน้น 3 หลักการที่สำคัญคือ 1.กินยาตามที่แพทย์สั่งอย่างต่อเนื่องไม่หยุดยาเอง และไปตรวจตามนัดทุกครั้ง 2.งดกินอาหารหวาน มัน เค็ม ควรปรุงอาหารกินเอง ลดการใช้เครื่องปรุงรส เพิ่มการกินผักและผลไม้ งดสูบบุหรี่และงดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ 3.ออกกำลังกายให้เหมาะสมกับร่างกายอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน ช่วยให้หัวใจทำงานดี และช่วยให้อารมณ์แจ่มใส ส่งผลให้ระดับความดันโลหิตลดลง

สำหรับกลุ่มผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ขอให้เตรียมตัวให้พร้อมคือ พักผ่อนอย่างเพียงพอ ใส่หน้ากากอนามัย พกแอลกอฮอล์เจลเพื่อล้างมือขณะอยู่นอกบ้าน เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล ในรายที่กินยาละลายลิ่มเลือด หรือกินยาต้านเกล็ดเลือด ให้แจ้งแพทย์หรือพยาบาลที่จุดบริการฉีดทราบ เพื่อป้องกันอาการแทรกซ้อนหลังฉีด เช่นเลือดออกที่รอยเข็มฉีด และหลังจากฉีดวัคซีนแล้ว 2-4 ชั่วโมง ไม่ควรออกกำลังกาย เนื่องจากอาจเกิดอาการข้างเคียง เช่น มีไข้ ปวดเมื่อย หรืออ่อนเพลีย และควรไปรับการฉีดให้ครบ 2 เข็มตามนัดของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422



ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : thaihealth