ข่าวทั่วไป

เขียนเมื่อ : วันศุกร์ ที่ 17 เดือน กันยายน พ.ศ.2564 | อ่านแล้ว : 3,413 ครั้ง

กินอาหารแช่แข็งอย่างไร ให้ได้ประโยชน์


  จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้หลายคนเลือกซื้ออาหารแช่แข็งมารับประทานมากขึ้น เนื่องจากสะดวก เก็บรักษาไว้ได้นาน และมีให้เลือกหลากหลาย อย่างไรก็ตามการเลือกรับประทานอาหารในแบบต่างๆ ก็ควรให้ได้คุณค่าทางอาหารครบ 5 หมู่

  วิกฤติโควิด-19 ส่งผลให้การดำเนินชีวิตของประชากรทั่วโลกเปลี่ยนแปลงไป นอกจากการติดเชื้อเจ็บป่วย และเสียชีวิต ยังกระทบถึงเรื่องความเพียงพอในการบริโภคอีกด้วย ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าอาหารและน้ำคือส่วนสำคัญในปัจจัย 4 เป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต ดังนั้น เมื่อประชาชนเข้าถึงอาหารที่มีประโยชน์ ที่มีคุณค่าทางโภชนาการอาหารได้ยากขึ้น ก็จะส่งผลต่อสุขภาพในด้านอื่นๆ ตามมาได้

  ในช่วงแรกของการแพร่ระบาดโควิด-19 และมีการ Lockdown โดยรัฐบาลขอความร่วมมือให้ประชาชนอยู่บ้านเพื่อหยุดการกระจายของเชื้อ จึงเกิดเหตุการณ์กักตุนอาหาร หลังจากการแพร่ระบาดนี้ได้ผ่านมามากกว่า 1 ปี ทุกคนผ่านการเรียนรู้ คุ้นชิน และพร้อมที่จะรับมือ ทำให้เหตุการณ์กักตุนอาหารเบาบางลง อย่างไรก็ดี อาหารที่สามารถเก็บได้นาน และมีคุณค่าทางโภชนาการอาหารครบ จึงเป็นตัวเลือกที่เป็นที่ต้องการมากขึ้น

  รศ.ดร.ชาลีดา บรมพิชัยชาติกุล ภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า อาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง คือกลุ่มอาหารที่มีความหลากหลายของเมนู มีรสชาติ ลักษณะเนื้อสัมผัสใกล้เคียงกับของสดหรือของปรุงสุกใหม่ ที่ผ่านกรรมวิธีการปรุงสุก การให้ความร้อนฆ่าเชื้อ และนำมาแช่เยือกแข็งเพื่อรักษาความสด รสชาติ และสามารถเก็บไว้ได้นานถึง 6 เดือน ซึ่งตอบโจทย์ได้ดีทั้งความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ได้สารอาหารครบถ้วน

  นอกจากนี้ผู้บริโภคควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และเน้นวัตถุดิบ หรืออาหารที่เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน หรือมีฤทธิ์ต้านไวรัส เช่น อาหารที่มีวิตามินซีสูง (ผลไม้ตระกูลส้ม ฝรั่ง มะขามป้อม) เห็ด (มีสารเบต้ากลูแคนที่ช่วยในกระตุ้นการทำงานของภูมิคุ้มกันและต้านไวรัส) ปลาและถั่วเมล็ดแห้ง ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนที่ดี โยเกิร์ตมีจุลินทรีย์โพรไบโอติกที่ช่วยสร้างภูมิต้านทานของลำไส้และภูมิคุ้มกันของร่างกาย


  เครื่องเทศและสมุนไพร เช่น กระเทียม หัวหอม ขิง ข่า หรือ พืชตระกูลขมิ้น ซึ่งมีสารพฤกษเคมีที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ หมั่นออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ต้องเครียดมากเกินไป และไม่ต้องกังวลเรื่อง เชื้อโควิด-19 ที่อาจจะปนเปื้อนในอาหาร เพราะยังไม่มีรายงานทางวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันพิสูจน์ว่าอาหารเป็นสื่อกลางของการแพร่เชื้อ

  เพื่อให้รับประทานอาหารได้อย่างมั่นใจและปลอดภัย ผู้บริโภคควรจะปรุงอาหารให้สุก หรืออุ่นร้อน หลีกเลี่ยงบริโภคอาหารที่มีการสัมผัสจากคนขายที่ไม่ได้สวมถุงมือ หรือ หน้ากากอนามัย และอาหารนั้นไม่ได้มาผ่านความร้อนอีกครั้ง เช่น อาหารที่ปรุงสุกไว้นานแล้ว ยำหรือสลัด ชูชิ หรือ ปลาดิบ ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดคือ อุ่นให้ร้อนเอง หรือ ทำอาหารรับประทานเอง เมื่อมีเวลาอยู่บ้านมากขึ้นก็สามารถใช้เวลากับคนในครอบครัวทำอาหารร่วมกันได้ หากไม่มีเวลา การเลือกรับประทานอาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง ก็เป็นทางเลือกที่สะดวกและมั่นใจได้

  อย่างไรก็ดี ทุกคนต้องรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา โดยเฉพาะเมื่อต้องเข้าไปในที่ชุมชน อย่าลืมรักษาระยะห่าง 2 เมตร ระหว่างบุคคล หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกัน ใช้ช้อนกลางส่วนบุคคล ไม่จับใบหน้า ตา จมูกและปาก ล้างมือด้วยสบู่ หรือ เจลแอลกอฮอล์ ทุกครั้งที่สัมผัสพื้นที่สาธารณะ ไอ จาม และก่อนรับประทานอาหาร ถ้าพวกเราช่วยกัน มีวินัย มีความตระหนักในสุขอนามัยส่วนบุคคล การหยุดเคลื่อนย้าย เราสามารถลดอัตราแพร่กระจายของโรคระบาดโควิด-19 ได้อย่างแน่นอน



ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : thaihealth , thairath