เขียนเมื่อ : วันพฤหัสบดี ที่ 19 เดือน สิงหาคม พ.ศ.2564 | อ่านแล้ว : 334 ครั้ง

โรคความดันโลหิตสูง-โรคหัวใจ ทำไมเสี่ยงติดโควิด-เสียชีวิตอันดับต้น


“โรคความดันโลหิตสูง-โรคหัวใจ” โรคประจำตัว-ปัจจัยเสี่ยง 2 อันดับแรก พบในผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 มากที่สุด

  โรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ เป็นกลุ่มโรคประจำตัวและปัจจัยเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรคที่พบในผู้ที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) มากที่สุด จากการรายงานสถานการณ์ประจำวันจาก ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)

  “ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมข้อมูลจากเว็บไซต์ โรงพยาบาลสมิติเวช โดยมีนายแพทย์กฤษณา วิไลวัฒนากร แพทย์อนุสาขาอายุรศาสตร์โรคหัวใจ เป็นผู้ให้ข้อมูล (ข้อมูลวันที่ 24 เม.ย.63) เกี่ยวกับต้นเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยจาก “โรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ” ถึงติดเชื้อและเสียชีวิตจากโควิดมากที่สุด ไว้ดังนี้

เชื้อก่อไวรัสโควิด ส่งผลหัวใจเต้นผิดจังหวะ

  ผู้ที่ป่วยที่มีโรคประจำตัวอย่าง ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ หากติดเชื้อโควิดแล้วไม่รีบเข้ารักการรักษา อาจมีความเสี่ยง นำไปสู่ภาวะหัวใจวายและเสียชีวิตได้ โดยพบว่าเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 (เชื้อที่ก่อโรคโควิด-19 ขึ้น) ส่งผลให้มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ 17% กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้ 7% ส่งผลให้ระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลวได้ 9% ดังนั้นผู้ที่มีโรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจควรระมัดระวังมากเป็นพิเศษ

ยาลดความดันโลหิต เพิ่มความเสี่ยงติดโควิด

  นักวิทยาศาตร์พยายามทำความเข้าใจกลไกการติดเชื้อไวรัส ทำให้พบว่า เชื้อไวรัส SARS-CoV-2 จะตรงเข้าไปที่ปอด เพราะที่ปอดของมนุษย์จะมีตัวรับชื่อ Angiotensin-converting enzyme 2 (ACE II) ซึ่งเปรียบเสมือนแม่กุญแจ คอยเปิดประตูให้ไวรัสเข้าไปในเซลล์ร่างกาย

  ดังนั้นจึงมีการตั้งสมมติฐานว่า ยาลดความดันสูง ในกลุ่ม ACE inhibitor หรือยาที่ควบคุมการทำงานของ ACEII ที่ใช้รักษาโรค ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคไตในผู้ป่วยเบาหวาน ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 เนื่องจากไปทำให้เซลล์ในร่างกายมีตัวรับ หรือแม่กุญแจ รับไวรัสเพิ่มมากขึ้น

คนมีโรคประจำตัว ควรรับมืออย่างไร

  หากมีโรคประจำตัว ควรหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำ ออกกำลังกายสม่ำเสมอและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด อันที่จริงแล้ว ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัยควรระมัดระวังการติดเชื้อด้วยการดูแลสุขอนามัยของตนเองด้วยเช่นกัน

  หากมีประวัติสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ต้องสงสัยภายใน 14 วันแล้วมีอาการไข้ ไอ น้ำมูก หายใจเหนื่อย ควรพบแพทย์เพื่อคัดกรองและหาสาเหตุแต่เนิ่น ๆ จะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนทางปอด หัวใจ และไตที่อาจเกิดขึ้นได้

  รวมถึง ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่และวัคซีนป้องกันปอดบวม Pneumococcal Vaccine หากมีข้อบ่งชี้ในผู้สูงวัยที่มีโรคปอดหรือโรคหัวใจ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายควบคู่ไปด้วยกันกับการดูแลตัวเอง



ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : prachachat