เขียนเมื่อ : วันเสาร์ ที่ 14 เดือน สิงหาคม พ.ศ.2564 | อ่านแล้ว : 551 ครั้ง

อาการใกล้ตัว "เบาหวานกับโควิด-19" ยังไม่ป่วยก็ต้องอ่าน


  การระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน 2564 นี้ ในจำนวนยอดผู้เสียชีวิตทั้งหมด มีผู้ป่วยจำนวนมากที่พบโรคประจำตัว ทั้งเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคอื่นๆ โดยเฉพาะ “โรคเบาหวาน” ซึ่งเป็นหนึ่งในโรคประจำตัวที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนง่ายที่สุด ทำไมโรคเบาหวานถึงมีอันตรายเสี่ยงอาการหนักสูง และคนที่มีรูปร่างอ้วนจะเสี่ยงด้วยหรือไม่

  แพทย์ศิริราชให้คำแนะนำผู้ป่วยเบาหวานควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดี และดูแลร่างกายให้มีสุขภาวะที่ดีในช่วงการระบาดโควิด-19 ผู้ป่วยเบาหวานที่มีความดันโลหิตสูง และภาวะอ้วนก็เป็นปัจจัยเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 จากการศึกษาวิจัยพบว่าผู้ป่วยเบาหวานมีอาการรุนแรงมากกว่าผู้ที่ไม่เป็นเบาหวานประมาณ / เท่า และพบอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยเบาหวานสูงถึงร้อยละ 7.3 เมื่อเทียบกับอัตราการเสียชีวิตโดยรวม เพราะผู้ป่วยเบาหวานจะมีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าคนปกติ และเชื้อไวรัสเจริญเติบโตได้ดีในสภาวะที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง

  ตามปกติแล้วร่างกายของคนเราจะมีกลไกเก็บน้ำตาลในเลือดไปยังกล้ามเนื้อ และตับ แต่หากกลไกนี้ทำงานผิดปกติก็จะมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งเกิดจากกรรมพันธุ์, พฤติกรรมการรับประทานอาหาร, การออกกำลังกาย หรือเป็นมาแต่กำเนิด จึงเกิดเป็นโรคเบาหวาน

เบาหวานมี 4 ประเภท ได้แก่

เบาหวาน ชนิดที่ 1 หมายถึง ผู้ป่วยที่ตับอ่อนสร้างอินซูลินไม่ได้ เกิดเป็นภาวะขาดอินซูลิน พบในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปี
เบาหวาน ชนิดที่ 2 หมายถึง ผู้ป่วยที่ร่างกายตอบสนองกับอินซูลินได้ไม่ดี เกิดจากการสร้างอินซูลินลดลง ร่วมกับภาวะดื้ออินซูลิน โดยมักเกิดจากกรรมพันธุ์, โรคอ้วน และการไม่ออกกำลังกาย
เบาหวาน ชนิดที่ 3 หรือเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หมายถึง หญิงตั้งครรภ์ที่ตรวจพบอาการเบาหวานขณะตั้งครรภ์ บางคนคลอดแล้วหาย แต่ผู้ป่วยกลุ่มนี้เสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ด้วย
เบาหวานชนิดอื่นๆ เกิดจากความผิดปกติในการทำงานของอินซูลินตั้งแต่กำเนิด

ในต่างประเทศที่พบจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมาก จนได้ข้อมูลสำคัญที่อธิบายว่าผู้ที่มีภาวะก่อนเบาหวาน อาจตรวจพบว่าเป็นเบาหวานหลังจากหายจากโควิด-19 แล้วด้วย

ศูนย์การแพทย์เว็กซ์เนอร์ของมหาวิทยาลัยโอไฮโอสเตต (Wexner Medical Center) เปิดเผยว่ามี 3 สมมติฐานที่ทำให้ตรวจพบเบาหวานในผู้ที่หายจากอาการป่วยโควิด-19 แล้ว ดังนี้

1. บุคคลนั้นเป็นเบาหวานอยู่แล้ว แต่ยังไม่เคยได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์
2. บุคคลนั้นมีภาวะก่อนเบาหวาน (Prediabetes) และผ่านช่วงติดเชื้อเฉียบพลัน หรือได้รับการรักษาด้วยยาสเตียรอยด์ที่มีผลต่ออินซูลิน ทำให้การสร้างอินซูลินในร่างกายผิดปกติ
3. บุคคลนั้นมีความเสี่ยงทางกรรมพันธุ์ นำไปสู่โรคเบาหวาน เช่น น้ำหนักเกิน (ยังไม่เป็นโรคอ้วน)

  ข้อมูลนี้ทำให้ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน ผู้ที่เสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานนั้นต้องดูแลตัวเองหลังจากหายป่วยโควิด ศูนย์การแพทย์เว็กซ์เนอร์แนะนำว่าการลดน้ำหนักจะช่วยชะลอการเป็นเบาหวานประเภทที่ 2 อย่างมีนัยสำคัญ ชาวเอเชียควรรักษาดัชนีมวลกายให้อยู่ที่ 23

  เมื่อหายป่วยจากอาการโควิดแล้วควรสร้างโปรแกรมการออกกำลังกาย เพื่อให้ร่างกายปรับระดับการสร้างอินซูลินได้ด้วยตัวเอง เช่น เปลี่ยนเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เป็นน้ำเปล่า และหากเป็นหญิงตั้งครรภ์ก็เข้ารับการตรวจเบาหวานหลังคลอดอีกครั้ง ตรวจซ้ำทุกๆ 6 เดือน และทุกปี



ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : thairath