เขียนเมื่อ : วันจันทร์ ที่ 9 เดือน สิงหาคม พ.ศ.2564 | อ่านแล้ว : 402 ครั้ง

รับมือกับโรคยอดฮิต “ความดันโลหิตสูง”


  “โรคความดันโลหิตสูง” เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของประชากรทั่วโลก โดยมีประชากรเสียชีวิตจากโรคนี้สูงถึง 7.5 ล้านคน และมีผู้ป่วยความดันโลหิตสูงเกือบ 1 พันล้านคนทั่วโลก ซึ่งคาดว่าในปี 2568 ความชุกของผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.56 พันล้านคน

  แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคจากการดูค่าความดันโลหิต โดยคนไข้จะต้องนั่งพักอย่างน้อย 5 นาทีขึ้นไป และก่อนวัดจะต้องไม่ดื่มกาแฟ ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ จึงจะได้ค่าความดันเลือดที่ตรงตามความเป็นจริง ทั้งนี้ หากผลของการวัดความดันสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท แพทย์จะนัดให้มาวัดซ้ำอีกครั้ง ในกรณีที่คนไข้ไม่เคยมีความดันสูง หากนัดครั้งต่อไป ค่าที่ได้ยังคงสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท ก็จะวินิจฉัยได้ว่าคนไข้คนนั้นเป็น “โรคความดันโลหิตสูง”

การรักษาจะแบ่งเป็น 2 แนวทางหลัก คือ การให้ยา และการปรับพฤติกรรม

  การรักษาโดยการให้ยากิน ส่วนจะต้องกินยาอะไรบ้าง จำนวนกี่ชนิด ก็ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ว่าคนไข้มีโรคประจำตัวอะไรบ้าง ซึ่งจะต้องพิจารณาให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อตัวคนไข้ ซึ่งเป้าหมายของการรักษา คือ รักษาระดับความดันเลือดให้อยู่ในระดับ 130/80 มิลลิเมตรปรอท หรือต่ำกว่า แต่ในผู้สูงอายุหากทนต่อความดันโลหิตที่ต่ำขนาดนี้ไม่ไหว เช่น มีอาการเวียนหัว หน้ามืด หกล้มบ่อย อาจอนุโลมให้ไม่เกิน 140/90 มิลลิเมตรปรอท

การปรับพฤติกรรมในด้านต่างๆ ดังนี้

    - ในคนไข้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน แนะนำว่าควรลดน้ำหนักจนมีดัชนีมวลกายไม่เกิน 23 กก./ตร.ม. หรือมีรอบเอวในผู้ชายไม่เกิน 90 ซม. (36 นิ้ว) และผู้หญิงไม่เกิน 80 ซม. (32 นิ้ว) หรืออย่างน้อยควรลดน้ำหนักตัวให้ได้อย่างน้อย 5% ของน้ำหนักตัว ซึ่งถ้าทำได้ก็จะเทียบเท่ากับการกินยาความดัน 1 ชนิดเลย
    - การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการออกกำลังกายแบบแอโรบิก คือ เน้นการเคลื่อนไหวร่างกายในระดับความแรงปานกลางถึงหนัก มีเหงื่อออกเยอะ เช่น เดินเร็ว วิ่ง ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ เต้นแอโรบิก โดยทำต่อเนื่องอย่างน้อย 20-30 นาทีต่อวัน 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์ ก็จะช่วยลดความดันได้
    - ลดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ โดยผู้หญิงไม่ควรดื่มเกิน 1 ดริงก์ต่อวัน เทียบเท่าเบียร์ 1 กระป๋อง หรือไวน์ 1 แก้วเล็ก หรือเหล้าสี 1 เป๊ก ส่วนในผู้ชายดื่มได้ 2 เท่าของผู้หญิง ถ้าดื่มมากกว่านี้ก็จะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคความดันโลหิตสูง
    - ลดการกินอาหารที่มีรสเค็ม มีเกลือ ซอสปรุงรสเป็นส่วนประกอบ โดยใน 1 วัน ควรได้รับปริมาณโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม หรือประมาณเติมน้ำปลาหรือซีอิ๊ว 3 ช้อนชา
    - ปรับเมนูอาหารโดยลดการกินเนื้อสัตว์ติดมันและเนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ไส้กรอก แฮม เบคอน เพิ่มการรับประทานปลา ถั่ว ธัญพืช ผักและผลไม้
    - ลดการสูบบุหรี่ ซึ่งจะไปทำลายผนังหลอดเลือด และทำให้หลอดเลือดอุดตัน

  นอกจากนี้ หากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูงแล้ว คนไข้จะต้องกินยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ และติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะยังไม่มีอาการใดๆ เกิดขึ้นก็ตาม เนื่องจากโรคนี้เป็นภัยเงียบ หากจะรอให้มีอาการปวดหัว เหนื่อยง่าย อัมพาต อัมพฤกษ์ แล้วค่อยมารักษา ก็อาจจะช้าเกินไป เพราะผนังของเส้นเลือดจะค่อยๆ หนาตัว และอุดตันไปทีละน้อย จนทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย คือ หลอดเลือดหัวใจตีบ หลอดเลือดสมองตีบ หัวใจทำงานหนัก มีภาวะหัวใจโต ภาวะหัวใจล้มเหลว หลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง หลอดเลือดใหญ่ในสมองแตกจนถึงแก่ชีวิต หรือเกิดภาวะโรคไตเรื้อรัง

  ในคนไข้ที่มีความกังวลใจว่า การกินยาในปริมาณมาก จะทำให้เป็นโรคไตในที่สุดนั้นเป็นความเข้าใจที่ผิด การปล่อยให้ความดันเลือดสูงมากๆ และไม่เข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธีต่างหาก ที่จะทำให้ไตทำงานหนัก เกิดภาวะไตวายเรื้อรัง และสุดท้ายก็ต้องล้างไต

  คนไข้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง จึงควรเข้ารับการรักษาอย่างเป็นระบบ กินยาตามแพทย์สั่งสม่ำเสมอ ทั้งนี้ แพทย์ที่ดูแลก็จะคอยเช็กการทำงานของไตว่าอยู่ในระดับดีหรือไม่ อย่างไร หากพบความผิดปกติเกิดขึ้นจะได้รักษาอย่างทันท่วงที

การป้องกัน

    - ตรวจสุขภาพปีละครั้ง หรือหาโอกาสวัดความดันตัวเองอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อจะได้รู้ว่าตนเองมีความดันเลือดอยู่ในระดับใด เช่น ถ้าวัดได้ 120/80 มิลลิเมตรปรอท แสดงว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ถ้าวัดได้ 135 ตัวล่าง 85 มิลลิเมตรปรอท ให้พึงระวังแล้วว่าเริ่มจะมีความดันสูง ควรติดตามความดันอย่างสม่ำเสมอ
    - ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยเป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิก เช่น เดินเร็ว วิ่ง ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ ฯลฯ โดยทำต่อเนื่อง 20-30 นาทีขึ้นไป 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์
    - หากมีน้ำหนักตัวเกิน ก็ลดน้ำหนักตัว โดยสามารถคำนวณจากค่าดัชนีมวลกาย โดยน้ำหนักตัวหารด้วยส่วนสูงเป็นเมตร ยกกำลัง 2 หากมีค่าเกิน 22.9 ขึ้นไป แสดงว่ามีน้ำหนักตัวเกิน หรือคำนวณโดยการวัดรอบเอว ในผู้หญิงไม่เกิน 80 ซม. และในผู้ชายไม่ควรเกิน 90 ซม.
    - ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่พอดี โดยในผู้หญิงไม่ควรเกิน 1 ดริงก์ต่อวัน ส่วนในผู้ชายไม่ควรเกิน 2 ดริงก์
    - ไม่ควรสูบบุหรี่ เพราะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจและสมองได้
    - กินอาหารที่ช่วยลดความดัน (DASH Diet) กล่าวคือ เน้นการกินผัก ธัญพืช และผลไม้เป็นหลัก โดยในอาหาร 1 จานจะต้องมีผักเป็นส่วนประกอบครึ่งจาน มีข้าวไม่ขัดสี หรือธัญพืชอีก ¼ ของจาน และที่เหลือเป็นเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ปลาและถั่ว รวมถึงนมไขมันต่ำอีก 1-2 แก้วต่อวัน นอกจากนี้ยังเน้นการกินผลไม้ เพราะมีกากใยและโพแทสเซียม ซึ่งจะช่วยให้ความดันอยู่ในเกณฑ์ปกติ
    - นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอวันละ 6-8 ชั่วโมงต่อวัน
    - ทำจิตใจให้แจ่มใส และผ่อนคลายความเครียด
    - หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีโซเดียมในปริมาณที่มากเกินไป เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารหมักดอง ขนมกรุบกรอบ รวมทั้งลดการเติมซีอิ๊ว น้ำปลา ซอสปรุงรส และน้ำจิ้ม ในอาหาร
    - หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูปต่างๆ เช่น ไส้กรอก แฮม เบคอน กุนเชียง แหนม หมูยอ ไข่เค็ม ปลาเค็ม เป็นต้น

  ดังที่กล่าวไปแล้วในข้างต้นของบทความว่า “โรคความดันโลหิตสูง” นั้นเป็นโรคที่เป็นภัยเงียบ และมีอันตรายถึงแก่ชีวิต หรือทุพพลภาพได้ ดังนั้นการป้องกันไม่ให้เป็นโรคนี้เป็นสิ่งที่ดีที่สุด ซึ่งหากทำได้ตามคำแนะนำที่กล่าวไป ก็จะทำให้คุณห่างไกลจาก “โรคความดันโลหิตสูง”



ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : thairath