เขียนเมื่อ : วันอังคาร ที่ 27 เดือน กรกฎาคม พ.ศ.2564 | อ่านแล้ว : 460 ครั้ง

ปัจจัยเสี่ยง "โรคไต" ที่ไม่ได้มาจากการ "กินเค็ม" แนะวิธีการป้องกัน


  ปัจจุบันคนไทยที่ป่วยเป็น "โรคไตเรื้อรัง" หรือผู้ที่มีภาวะโรคไตแฝงอยู่ มีตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 17.6% หรือคิดเป็นประมาณ 8,000,000 คนของประชากรไทย แต่กลุ่มที่ป่วยเป็นโรคไตวายในระยะสุดท้าย จะอยู่ที่ประมาณ 80,000 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ราวๆ 10,000-20,000 คนต่อปี

  ขณะที่ก่อนหน้านี้ องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ออกมาประกาศให้คนทั่วโลกได้ตระหนักถึงการบริโภคอาหารรสเค็ม อันเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคไต แต่อาหารรสเค็มก็ไม่ได้เป็นแค่ตั๋วใบเดียวที่ปลายทางจะนำไปสู่โรคไตได้ เพราะยังมีสาเหตุและความเสี่ยงอีกหลายอย่าง ที่พร้อมจะพาเราวิ่งสู่เส้นทางของโรคร้ายได้ทุกเมื่อ สมมติว่าคุณไม่ชอบทานอาหารรสเค็ม อย่าเพิ่งลดการ์ดระวังโรคไตเป็นเด็ดขาด เพราะถ้าบังเอิญคุณชื่นชอบอาหารที่มีความมันจัด หรือหวานจัด ความเสี่ยงที่ว่า แทบไม่ต่างกันเลย โดยเฉพาะถ้ามีพฤติกรรมยอดแย่อื่นๆ อย่างดื่มน้ำน้อย หรือไม่ออกกำลังกาย

  พญ.ผ่องพรรณ ทานาค แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์โรคไต สถาบันโรคไตและเปลี่ยนไต โรงพยาบาลพระรามเก้า เปิดเผยว่า นอกจากปัจจัยด้านพฤติกรรมการกินอาหารที่เราทราบกันดี ยังต้องระวังในเรื่องการทานยา โดยเฉพาะในกลุ่มยาแก้ปวดกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) ที่ทำให้เลือดไปเลี้ยงไตลดลง และส่งผลให้ไตทำงานได้แย่ลงด้วย แต่สิ่งที่เป็นสาเหตุหลักของความเสี่ยงโรคไตจริงๆ ประมาณ 70% คือกลุ่มโรคประจำตัว อย่างเบาหวานและความดัน หรือแม้แต่โรคไขมันและโรคอ้วน ก็นับเป็นความเสี่ยงเช่นกัน

  โดยอาการผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้นก่อนคือ "อาการบวม" โดยเฉพาะที่เปลือกตา ใบหน้า หรือบางรายที่หน้าแข้ง รวมถึงอาการปัสสาวะผิดปกติ เช่น มีเลือดเจือปน หรือมีลักษณะเป็นฟองละเอียด ทั้งยังส่งผลให้ปริมาณปัสสาวะมีความผิดปกติด้วยเช่นกัน อย่างปริมาณปัสสาวะลดลงทั้งที่ดื่มน้ำเท่าเดิม หรือปัสสาวะบ่อยขึ้นในเวลากลางคืน

  สำหรับโรคอื่นๆ เมื่อเราเจออาการผิดปกติเร็ว เราก็มักจะได้รับการรักษาที่ดี แต่โชคร้ายหน่อยที่ภาวะโรคไตไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะทันทีที่เราสังเกตเห็นอาการผิดปกติที่ว่า นั่นหมายถึง เรากำลังป่วยเป็นโรคไตในระยะที่อันตราย หรือเลวร้ายสุดคือระยะที่ 5 ที่จะตามมาซึ่ง "อาการไตวายระยะสุดท้าย"

  ขณะที่อาการของคนไข้โรคไตมี 5 ระยะ แต่คนไข้ส่วนใหญ่ถ้าไม่อยู่ในระยะสุดท้าย หรือระยะที่แย่จริงๆ มักจะไม่มีอาการ ดังนั้นกว่าคนไข้บางคนจะมาหาหมอ เขาก็ป่วยในระยะสุดท้ายแล้ว ยิ่งถ้าผู้ป่วยมีโรคประจำตัวตั้งต้นติดมาด้วย จนไตเสื่อมการทำงาน ทางเลือกที่แพทย์ทำได้ก็จะเหลือแค่ชะลอความเสื่อมของไตไปให้ช้าที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้อาการลามไประยะสุดท้ายได้

  โดยปกติวิธีการรักษาโรคไตจะขึ้นอยู่กับระยะของโรคที่คนไข้เป็น ในระยะที่ 1-4 แพทย์จะทำการชะลอความเสื่อมของไตให้ช้าที่สุด ด้วยการรักษาตัวโรคตั้งต้นที่ก่อให้เกิดโรคไต ควบคุมเบาหวานให้ดี ควบคุมความดันให้อยู่ในระดับปกติ งดเว้นการสูบบุหรี่ ลดน้ำหนักลง ควบคุมอาหารไม่ให้มีรสจัดเกินไป รวมถึงรับประทานยาเพิ่มเพื่อคุมโรคไต

  แต่ในทางตรงข้าม อาการไตวายระยะสุดท้าย หรือระยะที่ 5 ประสิทธิภาพไตจะทำงานเหลือน้อยลงกว่า 15% สิ่งที่แพทย์ทำได้จะเหลือตัวเลือกแค่ 3 ทาง คือ การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม, การฟอกเลือดทางหน้าท้อง หรือการล้างหน้าท้องด้วยน้ำยา และสุดท้ายวิธีรักษาที่ดีที่สุดนั่นคือ "การปลูกถ่ายไต"

  อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีผู้ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตประมาณ 8,000 คน หรือคิดเป็นเพียง 10% ของผู้ป่วยโรคไตทั้งหมด ก่อนอื่นผู้ที่จะเข้ารับการปลูกถ่ายไตจะต้องให้ทางโรงพยาบาลเป็นผู้ยื่นชื่อเพื่อขอรับไตจากผู้บริจาค ซึ่งเป็นผู้บริจาคสมองตาย จากสภากาชาดไทย หรือจากผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งเป็นญาติผู้ป่วยเองก็ได้ แต่ถึงอย่างนั้นผู้ป่วยก็ต้องเจอกับกระบวนการทางการแพทย์อีกหลายขั้นตอน เช่น ตรวจกรุ๊ปเลือด, เช็กเนื้อเยื่อเพื่อหาความเข้ากันได้กับไต, สภาพร่างกายต้องพร้อม และที่สำคัญคือ ความชำนาญและการทำงานของทีมแพทย์ผู้ผ่าตัด เพราะไตที่รับบริจาคมาจะอยู่นอกร่างกายได้เพียงแค่ 24 ชั่วโมงเท่านั้น

  สำหรับวิธีการการป้องกันภาวะไตวาย ควรควบคุมอาหาร ลดอาหารเค็ม เพื่อช่วยไม่ให้ไตทำงานหนัก ทั้งยังเป็นการควบคุมความดัน, ลดอาหารที่มีไขมันสูง, งดสูบบุหรี่, ดื่มน้ำเปล่าที่มีอุณหภูมิปกติ เพื่อเป็นการบำรุงไต, หากเป็นเบาหวาน ต้องคุมน้ำตาล, หากเป็นโรคความดันสูง ต้องคุมความดันให้อยู่ในระดับปกติ

  สุดท้าย การตรวจเลือดดูการทำงานของไตนั้น นับว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในประชากรกลุ่มเสี่ยงต่อโรคนี้ แต่ถ้าหากใครพบอาการผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์ทันทีเพื่อตรวจวินิจฉัย และรับการรักษาอย่างถูกต้องให้ทันท่วงทีต่อไป.



ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : thairath,synphaet