เขียนเมื่อ : วันพฤหัสบดี ที่ 9 เดือน มกราคม พ.ศ.2563 | อ่านแล้ว : 619 ครั้ง

“ความดันโลหิตสูง” เสี่ยง 4 โรคร้ายหากไม่รีบรักษา


ความดันโลหิตเป็นเรื่องสำคัญที่วัยรุ่นและวัยทำงานหลายคนอาจมองข้าม เพราะยังไม่ปรากฏอาการเท่าไรนัก แต่หากเริ่มก้าวเข้าวัย 30+ เมื่อไร ความดันสูงอาจเริ่มเป็นเรื่องใกล้ตัว และควรรีบรักษา เพราะอาจเสี่ยงโรคร้ายอันตรายถึงชีวิตหลายโรค


ความดันโลหิตสูง เกิดขึ้นได้อย่างไร ?


เมื่อผนังหลอดเลือดแดงของเราหนาขึ้น จากการที่มีไขมันที่ไม่ดีไปเกาะตัวอยู่ จะทำให้ช่องทางในการส่งเลือดจากหัวใจไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ เล็กลง ทำให้ส่งเลือดได้น้อยลง และเพื่อให้ยังสามารถส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายได้ตามปกติ หัวใจของเราจึงต้องเพิ่มแรงดันในเลือดให้มากขึ้น เพื่อให้เลือดสามารถไหลผ่านช่องเล็ก ๆ แคบ ๆ เหล่านี้ไปได้ แรงดันในการส่งเลือดที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง ที่เรียกกันว่า ความดันโลหิตสูง

สภาวะเช่นนี้ จะทำให้หัวใจของเราต้องทำงานหนักอยู่ตลอดเวลา และส่งผลให้การทำงานของอวัยวะต่างๆ ผิดปกติไปอีกด้วย และเมื่อร่างกายแบกรับความผิดปกตินี้ไม่ไหวอีกแล้ว ภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงต่างๆ ก็จะปรากฏตัวออกมาให้ได้เห็นกัน


ระดับความดันโลหิตสูง-ต่ำ จากสมาคมโรคหัวใจสหรัฐอเมริกา (American Heart Association)

ต่ำกว่า หรือเท่ากับ 120/80 มิลลิเมตรปรอท = ปกติ

120-129/ต่ำกว่า 80 มิลลิเมตรปรอท = ความดันโลหิตสูงเล็กน้อย

130-139/80-89 มิลลิเมตรปรอท = ความดันโลหิตสูงระดับ 1

มากกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท = ความดันโลหิตสูงระดับ 2

มากกว่า 180/120 มิลลิเมตรปรอท = ความดันโลหิตในระดับอันตราย ควรพบแพทย์ทันที


กลุ่มเสี่ยงความดันโลหิตสูง

 - กรรมพันธุ์ มีคนในครอบครัวมีอาการความดันโลหิตสูง

 - ไขมันในเลือดสูง (คอเลสเตอรอลในเลือดสูง)

 - น้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน หรือเป็นโรคอ้วน

 - สูบบุหรี่

 - ดื่มแอลกอฮอล์

 - กินเค็ม

 - นอนดึก


ความดันโลหิตสูง อันตรายต่อร่างกายอย่างไรบ้าง ?

ผศ. นพ. พิสนธิ์ จงตระกูล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยให้ข้อมูลว่า ความดันโลหิตสูง อาจเป็นสาเหตุของอาการผิดปกติในร่างกายหลาย ๆ อย่าง ดังนี้

 1. เส้นเลือดในสมองตีบ ตัน แตก เสี่ยงอัมพฤกษ์ อัมพาต

 2. กล้ามเนื้อหัวใจทำงานไม่ไหว ทำให้หัวใจโต หอบเหนื่อยง่าย เรียกภาวะนี้ว่า ภาวะหัวใจล้มเหลว ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มว่าพบในคนอายุน้อยลงเรื่อย ๆ

 3. หลอดเลือดหัวใจตีบ อุดตัน ทำให้เจ็บหน้าอก กล้ามเนื้อหัวใจตาย ช็อก เรียกภาวะนี้ว่า ภาวะหัวใจวาย

 4. ไตวาย ไตเสื่อม จนอาจต้องฟอกไต เสี่ยงต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อฟอกไตตลอดชีวิต


วิธีรักษาความดันโลหิตสูง

เมื่ออยู่ในภาวะเสี่ยงความดันโลหิตสูง หรือมีความดันโลหิตสูงในระยะเริ่มต้น แพทย์อาจแนะนำให้ปรับพฤติกรรมในการใช้ชีวิตด้วยตัวเองก่อน เช่น ออกกำลังกาย ลดอาหารที่มีไขมันสูง ลดอาหารเค็ม พักผ่อนให้เพียงพอ และลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่ได้มาตรฐาน

หากแพทย์พิจารณาแล้วว่า ผู้ป่วยมีภาวะความดันโลหิตสูงในระยะอันตราย แพทย์อาจสั่งยารักษาภาวะความดันโลหิตสูงให้รับประทาน ผู้ป่วยควรรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ไม่หยุดยาเองเด็ดขาด และพบแพทย์เพื่อรับการตรวจติดตามอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกัน และชะลอภาวะไตวาย ไตเสื่อม



ขอบคุณ
ข้อมูล : ผศ. นพ. พิสนธิ์ จงตระกูล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
ภาพ : iStock