เขียนเมื่อ : วันพุธ ที่ 8 เดือน มกราคม พ.ศ.2563 | อ่านแล้ว : 828 ครั้ง

เตือนช่วงนี้ “น้ำประปาเค็ม” มี “โซเดียม” สูง ผู้ป่วยโรคไตควรเลี่ยง


“กรมอนามัย” แจงยังดื่มน้ำประปาได้ แม้มีรสกร่อย ไม่ก่อปัญหาโซเดียมเกิน ส่วนผู้ป่วยโรคไตไม่ควรรับโซเดียมเพิ่มเลย แนะอาจซื้อน้ำขวดดื่มแทนก่อน


น้ำเค็ม เพราะภัยแล้ง

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงกรณีภาวะแล้งน้ำทะเลหนุนสูง ทำให้เกิดปัญหาน้ำประปาเค็ม จนมีข้อแนะนำให้ดื่มน้ำขวดแทนไปก่อน โดยเฉพาะผู้สูงอายุหรือผู้เป็นโรคไต เพราะอาจรับโซเดียมมากเกินไป ว่า ผู้ที่บริโภคน้ำประปาเป็นประจำอาจจะรับรู้ถึงรสชาติที่เปลี่ยนไปจากปกติในบางครั้ง โดยความเค็มดังกล่าวมาจากเกลือโซเดียมคลอไรด์หรือเกลือแกงที่ใช้ปรุงอาหาร ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดค่าแนะนำเพื่อความน่าดื่มและการยอมรับของผู้บริโภคไว้


โซเดียมสูง ทำให้น้ำประปากร่อย

ในน้ำประปา ควรมีโซเดียมไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อลิตร และคลอไรด์ไม่เกิน 250 มิลลิกรัมต่อลิตร แต่ถ้าเจือปนในน้ำมากเกินไปจะทำให้น้ำมีรสกร่อยถึงเค็มได้ ซึ่งทางโภชนาการและการแพทย์แนะนำว่า มนุษย์ควรรับโซเดียมเข้าสู่ร่างกายไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน โดยปัจจุบันน้ำประปามีโซเดียมประมาณ 100-150 มิลลิกรัมต่อลิตร จึงเป็นไปไม่ได้ที่คนปกติจะดื่มน้ำประปาจนได้รับโซเดียมเกินกว่าที่กำหนด


น้ำประปาโซเดียมสูง อันตรายต่อสุขภาพผู้ป่วยโรคไต

ความเค็มจากน้ำประปาอาจเพิ่มโซเดียมเข้าสู่ร่างกายต่อวันในปริมาณเล็กน้อยเท่านั้น ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ แต่อาจจะส่งผลต่อกลุ่มเสี่ยงที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษคือกลุ่มผู้ป่วยโรคไต เพราะหากดื่มน้ำประปาที่มีความเค็มจะทำให้ได้รับโซเดียมเพิ่มขึ้นจากปกติได้ ดังนั้น ในช่วงน้ำประปาเค็ม กลุ่มผู้ป่วยโรคไตที่รับบริการฟอกไตที่โรงพยาบาลไม่ต้องกังวล เนื่องจากโรงพยาบาลทุกแห่งมีระบบการกรองแบบ Reverse Osmosis (RO) ที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพ มั่นใจได้ในเรื่องความปลอดภัย

สำหรับคนปกติทั่วไป การดื่มน้ำกร่อยอาจได้รับโซเดียมเพิ่มเติมจากปกติ จึงควรลดปริมาณสารปรุงแต่งอาหารที่มีความเค็มลง เช่น เกลือ น้ำปลา ซีอิ้ว ซอสปรุงรส ผงปรุงรส งดการบริโภคอาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น ขนมกรุบกรอบ มันฝรั่งทอด หรือเปลี่ยนเป็นใช้น้ำดื่มบรรจุขวด ปิดสนิทแทนจะดีกว่า และยังส่งผลดีต่อสุขภาพด้วย

“คนปกติทั่วไปไม่มีอะไรน่ากังวล เพราะไตทำงานปกติ สามารถขับของเสียออกมาได้ แต่ที่ต้องกังวลคือ ผู้ป่วยโรคไต เนื่องจากไตทำงานได้น้อยลง การกำจัดเกลือก็จะน้อยตามไปด้วย และมีความเสี่ยงภาวะไตวายได้ ดังนั้น ผู้ป่วยโรคไตไม่ควรรับเกลือเข้าสู่ร่างกายอยู่แล้ว อย่างคนทั่วไปรับได้วันละไม่เกิน 1 ช้อนชา ผู้ป่วยไตต้องน้อยกว่านั้นมาก ๆ อย่างแพทย์จะแนะนำเลยว่า ไม่ควรกินของเค็ม แต่ก็ขึ้นอยู่กับสภาพไตของแต่ละบุคคล” พญ.พรรณพิมล กล่าว

ผู้ป่วยโรคไตควรต้องเลี่ยงดื่มน้ำประปา หรืออาจใช้เครื่องกรอง แต่ก็จะมีราคาแพง เพราะเครื่องกรองน้ำปกติส่วนใหญ่กรองตะกอน สิ่งปนเปื้อนอื่นๆ ไม่สามารถกรองความเค็มได้ เพราะละลายในน้ำเหมือนเกลือแกง ต้องใช้เครื่องกรองน้ำ Reverse Osmosis (RO) แต่มีราคาแพง ทางที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยโรคไต ควรซื้อน้ำขวดดื่มก่อน



ขอขอบคุณ
 : กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
 : promotionsci