เขียนเมื่อ : วันศุกร์ ที่ 3 เดือน มกราคม พ.ศ.2563 | อ่านแล้ว : 672 ครั้ง

บริโภค “เครื่องดื่ม” อย่างไร ไม่ให้ “น้ำตาล” เกิน


เครื่องดื่มน้ำตาลสูง หากดื่มมากเกินไป เสี่ยงอ้วน เบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด และฟันผุ จึงควรควบคุมปริมาณที่ดื่มในแต่ละวันให้ดี

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การบริโภคน้ำตาลที่เป็นส่วนประกอบของอาหารและเครื่องดื่มที่มากเกินไปจะก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพตามมา เช่น โรคอ้วน เบาหวาน หัวใจและหลอดเลือด และฟันผุ เป็นต้น


ปริมาณน้ำตาลที่ควรกินในแต่ละวัน

ปริมาณน้ำตาลที่คนไทยได้รับส่วนใหญ่มาจากขนมและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล จากการศึกษาผลของการดำเนินมาตรการภาษีเครื่องดื่มรสหวานต่อพฤติกรรมการบริโภคของประชาชน โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ปี 2562 พบว่าโดยเฉลี่ยในแต่ละวันคนไทยดื่มเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาลเฉลี่ยกว่า 3 แก้ว (519.3 มิลลิลิตร) โดยผู้ชายดื่มมากกว่าผู้หญิง และพบว่าในกลุ่มเด็กอายุ 6-14 ปี เป็นกลุ่มที่ดื่มเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาลเฉลี่ยต่อสัปดาห์มากที่สุด เครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาลที่วางจำหน่ายในไทย พบมีปริมาณน้ำตาลสูงมากเฉลี่ย 9-19 กรัม/100 มิลลิลิตร ในขณะที่ปริมาณที่เหมาะสมคือ ไม่ควรมีน้ำตาลมากกว่า 6 กรัม/100 มล. เพราะจะเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วนและโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้ในระยะยาว


ผัก ผลไม้ ช่วยลดฟันผุจากเครื่องดื่ม และอาหารที่มีน้ำตาลสูงได้

ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ผอ.สำนักทันตสาธารณสุข กล่าวว่า น้ำตาลเป็นแหล่งอาหารชั้นดีของแบคทีเรียในการผลิตกรดทำลายผิวฟัน จนลุกลามไปเรื่อย ๆ หากไม่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยควรเน้นบริโภคผัก หรือผลไม้ที่มีเส้นใยเซลลูโลส เพราะมีประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งการเคี้ยวเส้นใยจะช่วยกระตุ้นให้มีน้ำลายมากขึ้น สามารถเจือจางสภาพความเป็นกรดได้เป็นอย่างดี รวมทั้งอาหารกลุ่มโปรตีน เช่น ถั่วต่าง ๆ นมที่มีแคลเซียมและฟอสเฟตสูง หากต้องการดื่มเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาล แนะนำให้สั่งสูตรหวานน้อย เพื่อลดปริมาณน้ำตาลส่วนเกิน

ทั้งนี้ เครื่องดื่มที่ดีที่สุดสำหรับร่างกายคือ น้ำเปล่า


บริโภค “เครื่องดื่ม” อย่างไร ไม่ให้ “น้ำตาล” เกิน

 - หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีรสหวานจัดมากเกินไป

 - สั่งขอสูตรหวานน้อยกว่าปกติให้ติดปาก

 - ไม่ดื่มเกิน 1 แก้วต่อวัน และไม่ควรดื่มทุกวัน หากติดเครื่องดื่มหวาน ๆ ควรค่อย ๆ ลดปริมาณลงจากวันละแก้ว เป็นสัปดาห์ละ 3-4 แก้ว และค่อย ๆ ลด  
    จนสามารถไม่กิน หรือไม่อยากกินมากเหมือนแต่ก่อนได้

 - ดื่มน้ำเปล่าให้ติดเป็นนิสัย หากอยากได้กลิ่น หรือรสชาติ สามารถใส่มะนาว สตรอเบอร์รี่ ส้ม แอปเปิ้ล หรือผลไม้อื่น ๆ ลงในน้ำเปล่าได้

 - เน้นกินโปรตีนไขมันต่ำ และผักผลไม้ให้มากขึ้น และลดแป้งไม่ขัดสีลง เช่น ข้าวขาว ขนมปังขาว

 - อย่าลืมออกกำลังกาย เพื่อเผาผลาญพลังงานที่ได้จากเครื่องดื่มที่กินเข้าไปด้วย


ขอบคุณ
 : ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ผอ.สำนักทันตสาธารณสุข
 : iStock