เขียนเมื่อ : วันอังคาร ที่ 13 เดือน พฤศจิกายน พ.ศ.2561 | อ่านแล้ว : 1,346 ครั้ง

โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน อันตรายมาก อย่าวางใจ


อาการโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน
โรคนี้มักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน บางรายอาจมีสุขภาพปกติแข็งแรงดี แต่อยู่ๆ ก็มีอาการผิดปกติ สำหรับอาการของผู้ป่วยส่วนมากจะมาพบแพทย์ด้วยอาการแน่นหน้าอกอย่างรุนแรงตรงกลางหน้าอก เหมือนถูกกดหรือถูกบีบ มีเหงื่อออก ใจสั่น ปวดร้าวไปถึงกราม สะบักหลัง แขนซ้าย จุกคอหอย บางคนอาจมีความรู้สึกเหมือนถูกเชือดรัดหรือมัดรอบหน้าอก จุกใต้ลิ้นปี่คล้ายโรคกระเพาะหรือกรดไหลย้อน นอกจากนี้อาจมีอาการตัวเย็น วิงเวียน คลื่นไส้ ใจสั่น หายใจผิดปกติและอ่อนแรงร่วมด้วย อย่างไรก็ตามหากคนไข้มีอาการดังกล่าว แนะนำให้รีบไปพบแพทย์อย่างเร็วที่สุด

แนวทางการรักษากล้ามเนื้อหัวใจ
เมื่อผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาล แพทย์จะทำการซักประวัติผู้ป่วยในเบื้องต้นพร้อมทั้งทำกราฟหัวใจประกอบการวินิจฉัยเพื่อให้แน่ใจว่าเป็นภาวะหัวใจขาดเลือดจริงๆ ซึ่งถ้ากราฟแสดงผลผิดปกติก็จะสามารถยืนยันได้ว่ามีการขาดเลือดไปเลี้ยงหัวใจ จากนั้นแพทย์จะทำการฉีดสีเพื่อให้ตำแหน่งที่หลอดเลือดอุดตันแสดงในฟิล์มเอกซ์เรย์ แล้วจึงเป็นการเปิดหลอดเลือด โดยสามารถทำได้ 2 วิธีการหลัก คือ

การใช้ยาละลายลิ่มเลือด แพทย์จะฉีดตัวยาที่มีฤทธิ์ในการละลายเลือดที่แข็งตัวเข้าไป เพื่อสลายลิ่มเลือดที่อุดตันอยู่ แต่วิธีการนี้จะได้ผลดีก็ต่อเมื่อผู้ป่วยมาถึงมือแพทย์ทันท่วงที เพราะหากการช่วยเหลือมีความล่าช้า จะทำให้ลิ่มเลือดที่อุดตันมีส่วนผสมอื่นเข้ามาเจือปนจนไม่สามารถละลายได้ดีเท่าที่ควร

การขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน วิธีการนี้จะใช้สายสวนที่มีลูกโป่งติดอยู่ตรงปลายสอดเข้าไปบริเวณที่หลอดเลือดอุดตัน ก่อนที่จะเป่าลมให้ลูกโป่งขยายหลอดเลือดและทำให้ลิ่มเลือดหลุดออกไป นับเป็นวิธีที่ได้ผลดีกว่าการใช้ยาในปัจจุบัน มักจะมีการใช้การดูดลิ่มเลือดและใส่ขดลวดร่วมด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้ลิ่มเลือดหลุดลอยไปอุดตันบริเวณส่วนปลายของหลอดเลือด การขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนนั้นมีโอกาสประสบความสำเร็จมากถึงร้อยละ 95 ขณะที่การใช้ยาละลายลิ่มเลือดได้ผลราวร้อยละ 70 ทำให้บางครั้งแม้จะให้ยาแล้วก็ต้องมาทำบอลลูนอยู่ดี

ปัจจัยเสี่ยงของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดแบบเฉียบพลัน (หัวใจวาย)
● ความดันโลหิตสูง
● ไขมันในเลือดสูง
● เบาหวาน
● การสูบบุหรี่
● โรคอ้วน