เขียนเมื่อ : วันจันทร์ ที่ 22 เดือน ตุลาคม พ.ศ.2561 | อ่านแล้ว : 2,834 ครั้ง

สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับ "วันปิยมหาราช"


วันปิยมหาราช คือ วันสวรรคตของรัชกาลที่ 5
เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 11 แรม 4 ค่ำ ปีจอ ตรงกับวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ.2453 ด้วยโรคพระวักกะ (ไต) ณ พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต สิริพระชนมายุได้ 57 พรรษา ทั้งนี้รัฐบาลไทยได้จัดให้วันที่ 23 ตุลาคม ของทุกปีเป็นวันปิยมหาราชและเป็นวันหยุดราชการ เพื่อเป็นวันสำหรับระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่มีต่อประเทศชาติ

ที่มาของพระนาม พระปิยมหาราช
พระปิยมหาราช มีความหมายว่า มหาราชผู้ทรงเป็นที่รักยิ่ง เป็นพระนามพิเศษที่พสกนิกรตั้งถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระนามพิเศษนี้จารึกไว้ที่ฐานพระบรมรูปทรงม้าไม่เคยมีพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์ใดเคยมีมาก่อน ถือเป็นพระเกียรติสูงสุดที่พสกนิกรถวาย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักมีปรากฏในคัมภีร์อรรถกถาของพระพุทธศาสนาด้วยกัน 2 พระองค์ คือ ปิยทัสสี เป็นพระนามหนึ่งของพระเจ้าอโศกมหาราช มีความหมายว่า ผู้เป็นที่รักใคร่ของเทพยดา เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นธรรมราชา อุปถัมภ์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาตลอดรัชสมัยพระมหากษัตริย์อีกพระองค์ คือ เทวานัมปิยะดิส พระมหากษัตริย์แห่งศรีลังกาที่น้อมรับพระพุทธศาสนาจากอินเดียมายังศรีลังกา พระนามนี้มีความหมายว่า พระเจ้าดิสผู้เป็นที่รักของเทพยดา จากนั้นก็ไม่มีหลักฐานใดปรากฏพระนามของพระมหากษัตริย์ที่มีความหมายว่าเป็นที่รักอีกเลยจนกระทั่งรัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรค์
ด้วยว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราช รัชกาลที่ 5 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงสร้างคุณูปการ สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้ประเทศชาติมีความเท่าเทียบกับนานาอารยประเทศ พสกนิกรจึงพร้อมใจยกย่องพระองค์เป็นมหาราชผู้เป็นที่รัก

พระพุทธเจ้าหลวง พระนามนี้มีที่มาอย่างไร?
พระพุทธเจ้าหลวง เป็นสมญนามที่ใช้กับพระมหากษัตริย์ที่สวรรคตแล้ว ดังในสมัยพระเจ้าปราสาทองแห่งกรุงศรีอยุธยาก็เรียกว่า สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงปราสาททอง ต่อมานำกลับมาใช้ในครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตอีกครั้ง

พระบรมรูปทรงม้า อนุสรณ์รำลึกถึงรัชกาลที่ 5
พระบรมรูปทรงม้า สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จากเงินของพสกนิกรที่ร่วมรวมได้ในตอนแรกเพียงแสนกว่าบาทต่อมาก็กลายเป็นล้านบาท ซึ่งเงินที่ร่วมรวบเหล่านี้กลับเกินเป้าที่ตั้งไว้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โปรดให้นำจำนวนเงินที่เหลือเป็นทุนสำหรับก่อตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 5

กุหลาบสีชมพู ดอกไม้โปรดของรัชกาลที่ 5
ดอกกุหลาบเป็นดอกไม้ทรงโปรดของรัชกาลที่ 5 แต่นิยมบูชารัชกาลที่ 5 ด้วยดอกกุหลาบสีชมพู เพราะสีชมพูเป็นสีประจำวันอังคารเหตุที่ทราบว่าพระองค์ทรงโปรดดอกไม้ชนิดนี้คงมาจากจดหมายที่พระองค์ทรงเขียนถึงสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านิภานภดลครั้งเสดด็จประพาสยุโรป ได้ตรัสถึงความงดดงามของดอกกุหลาบไว้หลายตอนในจดหมายฉบับนี้



ขอบคุณข้อมูลจาก : พระนิพนธ์ประวัติศาสตร์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ