เขียนเมื่อ : วันจันทร์ ที่ 24 เดือน กันยายน พ.ศ.2561 | อ่านแล้ว : 2,039 ครั้ง

นักวิจัยเตือน "เบาหวาน" ยังทำลายกระดูกด้วย


เมธีวิจัย สกว.เตือนเบาหวานมีผลต่อภาวะกระดูกพรุนและกระดูกหัก เหตุโครงสร้างคอลลาเจนของกระดูกเสียหายและเซลล์สร้างกระดูกทำงานได้น้อยลง เบาหวานชนิดที่ 2 ตรวจยากกว่า เพราะเครื่องมือที่ใช้ตรวจความหนาแน่นของกระดูกยังไม่มีความละเอียดมากพอ
ศาสตราจารย์ ดร.นพ.นรัตถพล เจริญพันธุ์ เมธีวิจัยอาวุโส สกว. สังกัดหน่วยวิจัยด้านแคลเซียมและกระดูก ภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าโรคเบาหวานมีผลข้างเคียงต่อจอประสาทตา ไตและระบบประสาท ตลอดจนแผลเรื้อรังที่เท้า ซึ่งทั้งหมดเกิดจากผลร้ายของเบาหวานที่ทำลายอวัยวะสำคัญของร่างกาย รวมถึงกระดูกซึ่งเป็นโครงสร้างแข็งแรงค้ำจุนร่างกายด้วย

ที่ผ่านมาวงการแพทย์ไม่ได้ตระหนักถึงพิษภัยของเบาหวานต่อกระดูกมากนัก เนื่องจากงานวิจัยในหลายทศวรรษที่ผ่านมาไม่สามารถนำไปสู่ข้อสรุปที่ชัดเจนถึงผลเสียของเบาหวานต่อโครงสร้างของกระดูกได้ แต่เมื่อมีข้อมูลมากขึ้นจากงานวิจัยที่ดำเนินอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กอปรกับเทคโนโลยีการวิเคราะห์มวลกระดูกและโครงสร้างของกระดูกที่มีความละเอียดแม่นยำมากขึ้น จึงนำไปสู่ข้อสรุปว่าเบาหวานทำลายกระดูก ทำให้ความแข็งแรงของกระดูกลดลงอย่างมากแม้ว่าความหนาแน่นของกระดูกอาจไม่ลดลง

ข้อแนะนำสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
ในการรักษาสุขภาพเพื่อชะลอความเสื่อมของกระดูกให้ช้าที่สุด สิ่งสำคัญคือต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ซึ่งทำได้โดยการควบคุมอาหารไม่รับประทานอาหารที่หวานจัด ลดอาหารที่มีไขมันหรือแป้งในปริมาณมาก ร่วมกับการใช้ยาควบคุมเบาหวาน รวมถึงรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนมและผลิตภัณฑ์จากนม เช่น โยเกิร์ตที่ไม่ปรุงหวาน เป็นประจำ เนื่องจากมีงานวิจัยที่ยืนยันว่าเบาหวานทำให้เซลล์เยื่อบุผิวทางเดินอาหารทำงานผิดปกติ จนทำให้การดูดซึมแคลเซียมด้อยประสิทธิภาพลง นอกจากนี้การออกกำลังกายก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยชะลอการลดลงของมวลกระดูกได้ เนื่องจากช่วยกระตุ้นให้เซลล์สร้างกระดูกทำงานได้ดีขึ้น อย่างไรก็ดีผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่หักโหมหรือกระทบกระแทกต่อโครงสร้างของกระดูกและข้อมากเกินไป เช่น การวิ่งขึ้นลงบันได หรือการยกน้ำหนัก รวมถึงลดปัจจัยที่อาจทำให้มวลกระดูกลดลง เช่น การรับประทานเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก การสูบบุหรี่ เป็นต้น เพื่อให้กระดูกมีสุขภาพดีตั้งแต่วัยเด็กจนสูงอายุ



ขอบคุณข้อมูลจาก : ดร.นพ.นรัตถพล เจริญพันธุ์ เมธีวิจัยอาวุโส สกว.