เขียนเมื่อ : วันอังคาร ที่ 17 เดือน เมษายน พ.ศ.2561 | อ่านแล้ว : 1,421 ครั้ง

กินมะระ ขม…ข่มเบาหวาน


กินมะระ อย่างไรให้ได้ประโยชน์
มะระเป็นผักสำคัญชนิดหนึ่งของครัวเอเชีย ทั้งไทย จีนและอินเดีย
ผิดกับชาวตะวันตกที่ไม่เคยลิ้มรสมะระ ครั้นพอได้ชิมก็แสดงทัศนะดัง ศาสตราจารย์ ดร.ทวีทอง หงษ์วิวัฒน์ เล่าไว้ว่า
“ฝรั่งบอกว่า การกินรสขมๆ ของมะระได้อย่างเอร็ดอร่อยเป็น acquired taste คือเป็นความอร่อยที่ต้องเรียนรู้ ลิ้นใครยังไม่ได้รับการศึกษา กินไม่เป็นก็ไม่อร่อย”

รสขม…ข่มเบาหวาน
นอกจากความอร่อยจากรสขมที่ชาวตะวันตกได้เรียนรู้แล้วเขายังทำการศึกษาต่อว่า สารอะไรที่ก่อให้เกิดรสขม เป็นประโยชน์หรือโทษต่อร่างกาย คำตอบที่ได้ในเวลาต่อมาคือมะระจีนและมะระขี้นก ขมก็เพราะมีสารแอลคาลอยด์ชื่อโมโมดิซิน (momodicine) ซึ่งนอกจากให้รสขมแล้ว ยังมีสรรพคุณช่วยเจริญอาหารและเป็นยาระบายอ่อนๆ

ภายใต้ผิวขรุขระของมะระขี้นกยังพบสารชาแรนทิน (charantin) และพอลิเพปไทด์-พี (polypeptide-p) ซึ่งมีฤทธิ์ลดเบาหวานได้ โดยจะไปกระตุ้นการเปลี่ยนกลูโคสในกระแสเลือดให้เป็นไกลโคเจนที่ตับ และกระตุ้นการหลั่งอินซูลินจากเบต้าเซลล์ของตับอ่อน จากผลการศึกษาทางคลินิกและจากรายงานทางการแพทย์ทางเลือกประเทศต่างๆ เช่น อินเดีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์แอฟริกาใต้ ฯลฯ แนะนำให้ใช้น้ำมะระคั้นสด 4 ช้อนโต๊ะวันละ 3 ครั้งแก่ผู้ป่วยเบาหวานเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือด

กินมะระเป็นอาหารและยา
มะระที่นำมาทำอาหารมีอยู่ 2 ชนิด คือ มะระจีน ลักษณะลูกโตยาว สีเขียวอ่อน ผิวมีรอยหยักเป็นร่องยาวทั้งลูก และ มะระขี้นก ซึ่งจะมีผลเล็กกว่ามะระจีน สีเขียวเข้ม ผิวขรุขระ

ทั้งสองชนิดมีรสขมเหมือนกัน แต่มะระขี้นกจะมีรสขมกว่ามะระจีน และมะระขี้นกยังนิยมนำมาใช้ในงานวิจัย โดยเฉพาะในประเทศไทย มากกว่ามะระจีน โดยเฉพาะในเรื่องสรรพคุณต้านเชื้อไวรัสเอชไอวีและมะเร็ง แต่ก็ยังไม่อาจสรุปผลการวิจัยได้แน่นอน




จาก คอลัมน์ DIY มื้อสุขภาพ นิตยสารชีวจิต ฉบับ 312 (1 ตุลาคม 2554)