เขียนเมื่อ : วันศุกร์ ที่ 23 เดือน มีนาคม พ.ศ.2561 | อ่านแล้ว : 1,449 ครั้ง

5 อาการแสดงของโรคเบาหวาน


เราได้ทราบถึงปัจจัย และสาเหตุที่เป็นตัวกระตุ้นให้เป็นโรคเบาหวานในเบื้องต้นกันไปแล้ว และส่วนใหญ่ยังเป็นพฤติกรรมที่เราหลายคนสามารถหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าได้อยู่ แต่สำหรับผู้ที่รู้ตัวอีกที ก็รู้สึกว่าตนเองกำลังจะย่างก้าวเข้าหาโรคชนิดนี้ล่ะ สัญญาณสำคัญที่บ่งบอกว่าโรคเบาหวานได้เข้ามาอาศัยอยู่ในร่างกายบ้างแล้วมีอะไรบ้าง

1.กลิ่นปาก ถือเป็นหนึ่งในสัญญาณบอกโรคได้อย่างกว้าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคตับ ไซนัส การทำงานผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร (กรดไหลย้อน) โรคทางช่องปาก รวมถึงโรคเบาหวาน เป็นต้น เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่สะสมในช่องปากมากกว่าปกติ

2.หิวน้ำบ่อย เนื่องจากกลไกปัสสาวะตามปกติจะมีการดึงเอาน้ำ และน้ำตาลส่วนเกินออกไปจากร่างกายด้วย ทำให้ผู้ป่วยหิวน้ำบ่อยมากขึ้นได้

3.มดขึ้นปัสสาวะและปัสสาวะบ่อย พบได้มากในผู้ป่วยที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกิน 200 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เนื่องจากร่างกายจะดึงเอาน้ำตาลส่วนเกินออกมาพร้อมกับปัสสาวะ ซึ่งหากมีระดับน้ำตาลมากก็จะทำให้เกิดปัสสาวะบ่อย ทำให้มีอาการหิวน้ำบ่อยตามมา กรณีมดขึ้นปัสสาวะก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้เช่นกัน หากเป็นตามกรณีดังกล่าว ควรเข้ารับการตรวจเลือกและตรวจสุขภาพในทันที

4.น้ำหนักตัวลดโดยไม่มีสาเหตุ

5.อาการคันตามตัว เนื่องจากเหงื่อที่ถูกผลิตออกมามีปริมาณของน้ำตาลที่ค่อนข้างสูง คนที่เป็นเบาหวานส่วนใหญ่จึงมีเชื้อราในร่มผ้าเยอะ เช่น กลากเกลื้อนเกิดขึ้นตรงบริเวณที่มีความอับชื้นได้

สังเกตได้ว่าสัญญาณทุกอย่างล้วนมีความเชื่อมโยงเกี่ยวพันกันเป็นวงจร หากเราตัด หรือปรับลดพฤติกรรมใดพฤติกรรมหนึ่งออกไปได้ ก็จะทำให้สัญญาณที่เกี่ยวพันกันอยู่นั้น ขาดออกจากกันได้ในที่สุด แต่สำหรับผู้ที่พบสัญญาณของโรคในเบื้องต้น หรือสงสัยในความผิดปกติของตนเองบ้างแล้ว ควรเข้ารับการตรวจเลือดและสุขภาพ เพื่อหาวิธีรักษาอย่างทันโรคแบบถูกจุด เพราะการรักษาไม่ทันท่วงทีอาจส่งผลให้โรคลุกลาม กลายเป็นเบาหวานขึ้นตา หรือเบาหวานลงไตได้

อีกทั้ง แม้ว่าปัจจุบันการรับประทานยา และการฉีดอินซูลิน เป็นวิธีรักษาเบาหวานที่เหมาะสมที่สุด วงการแพทย์เองก็ได้มีการพัฒนาและวิจัยวิธีรักษาแบบใหม่อยู่เสมอ และหนึ่งในนั้นคือวิธีปลูกถ่ายตับอ่อน หรือการใช้เซลล์จากตับอ่อนมาปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วยโรคเบาหวาน อย่างไรก็ตาม วิธีรักษาก็ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของผู้ป่วยแต่ละคน บวกกับความร่วมมือจากพฤติกรรมของผู้ป่วยเป็นหลัก เพราะไม่ว่าจะเป็นการใช้ยาหรือฉีดอินซูลิน ย่อมต้องผสมกับการปรับวิถีชีวิตของผู้ป่วยเข้าไปด้วยในทุกกระบวนการ

อีกทั้ง การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอก็ยังเป็นกิจกรรมที่ผู้ป่วยสามารถออกแรงทำได้ตามปกติ แต่ก็อย่าหักโหมมากจนเกินตัว และหมั่นตรวจระดับน้ำตาลในเลือดและเช็คสุขภาพเป็นประจำ จะช่วยป้องกันหรือลดโอกาสเกิดโรคได้อย่างมากทีเดียว




ขอบคุณข้อมูล : นพ.วิศิษฐ์ ภาสุรปัญญา
อายุรแพทย์โรคเบาหวานและต่อมไร้ท่อ
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน