เขียนเมื่อ : วันเสาร์ ที่ 3 เดือน มีนาคม พ.ศ.2561 | อ่านแล้ว : 1,040 ครั้ง

รู้ไว้!! ‘โรคไตในเด็กรุนแรงมาก’


รู้ไว้!! ‘โรคไตในเด็กรุนแรงมาก’ เมื่อเข้าสู่ภาวะเรื้อรังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้

หากถามถึงโรคภัยไข้เจ็บของคนไทย หลายคนคงนึกถึง “โรคไต” ซึ่งถือเป็นโรคยอดนิยมของคนไทยเลยก็ว่าได้ …แต่น้อยคนนักที่รู้ว่า “โรคไตในเด็ก” นั้นรุนแรงไม่แพ้กัน เมื่อไม่นานมานี้ “รศ. พญ.กาญจนา ตั้งนรารัชชกิจ” สาขาวิชาโรคไต ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่า โรคไตคือโรคที่มีภาวะค่าไตเสื่อมและทำงานได้ไม่ปกติ หากรุนแรงจะส่งผลให้ไตมีสมรรถภาพการทำงานที่ลดลงจนแทบไม่สามารถทำงานได้ ไปจนถึงไตวายและเกิดการเสียชีวิตตามมา

โรคไตในเด็ก
ส่วนโรคไตในเด็ก การพิจารณาจะแบ่งตามช่วงอายุ ได้แก่ อายุ 0-5 ปีและอายุ 5 ปีขึ้นไป ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี โรคไตที่พบบ่อยมี 2 สาเหตุ ได้แก่

– ความผิดปกติของโครงสร้างไตแต่กำเนิด ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ในครรภ์มารดา โดยมีการพัฒนาไตที่ผิดปกติ

– การดูแลที่ไม่เหมาะสม ทำให้เกิดการติดเชื้อที่ระบบทางเดินปัสสาวะ

สำหรับเด็กวัย 5 ปีขึ้นไป มักเกิดภาวะไตอักเสบ ซึ่งมีหลายสาเหตุด้วยกัน ที่พบบ่อยคือการซื้อยามากินเอง เมื่อมีอาการเจ็บคอหรือผิวหนังเกิดการติดเชื้อ ส่งผลให้ระบบภูมิต้านทานของร่างกายมีความเปลี่ยนแปลงและเกิดการทำลายไตตัวเอง ทำให้ไตอักเสบกลายเป็นโรคไตในที่สุด

ความสำคัญของโรคไตคือการรักษาได้เร็วและทันท่วงที แต่ส่วนหนึ่งพบว่าโรคไตบางอย่างไม่แสดงอาการทำให้ผู้ป่วยไม่รู้ตัวและพบแพทย์ช้า เกิดภาวะโรคไตเรื้อรังตามมาซึ่งรักษาได้ยาก หากเข้าสู่ภาวะโรคไตเรื้อรังแล้วจะทำให้ไม่สามารถรักษาได้หายขาด แต่การรักษาจะเป็นเพียงประคับประคองอาการให้สามารถใช้ชีวิตได้ปกติเท่านั้น หากรักษาไม่ทันจะทำให้เกิดภาวะไตวายและเสียชีวิตในที่สุด

โดยทั่วไปโรคไตไม่ใช่โรคร้ายถ้าหากรู้ตัวเร็วและรักษาได้เร็ว แต่ถ้าหากเข้าสู่ภาวะโรคไตเรื้อรังแล้วจะทำให้ไตเสื่อม และสมรรถภาพการทำงานลดลงเหลือเพียง 50% เท่านั้น ซึ่งภาวะนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่แพทย์จะทำการรักษาเพื่อชะลอความเสื่อมของไตเอาไว้ ให้สามารถทำงานได้ 70% ช่วยรักษาไตให้อยู่กับผู้ป่วยไปนาน ๆ และรักษาชีวิตของผู้ป่วยเอาไว้ได้

ทั้งนี้สิ่งที่ควรระวังสำหรับโรคไตในเด็ก คือ “ภาวะอ้วนในเด็ก” ซึ่งมาจากพฤติกรรมการเลี้ยงดูของผู้ปกครองในยุคนี้ ปัจจุบันพบว่าปัญหาโรคไตในเด็กคือการทานอาหารของเด็ก ที่มีพฤติกรรมไม่ดีต่อสุขภาพนัก เช่น การรับประทานของมัน ของเค็ม หรือของหวานจัดเกินไป ทำให้อ้วนและเกิดความดันโลหิตสูง นำมาซึ่งภาวะไตเสื่อม

สาเหตุนี้สามารถป้องกันได้โดยการปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงดู รวมถึงการใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูป กรณีที่ผู้ปกครองไม่รู้ว่าเด็กขับถ่าย จึงทำให้เกิดการหมักหมมของอุจจาระ สามารถทำให้เกิดโรคไตได้ในอนาคตเช่นกัน ผู้ปกครองควรระวังหากใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูป ในเรื่องของการดูแลความสะอาดก้นเด็กอย่างสม่ำเสมอ

การรักษาโรคไตในเด็ก “ตามอาการ”

– กรณีของโรคไตแต่กำเนิด โดยทั่วไปมักมาจากการอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ สามารถรักษาได้โดยการติดตามอาการ เพื่อการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม บางรายอาการดีขึ้นได้เมื่อเติบโตขึ้น แต่บางรายหากอาการรุนแรงมากอาจต้องได้รับการผ่าตัด

– กรณีติดเชื้อที่ระบบทางเดินปัสสาวะ รักษาได้ด้วยวิธีการใช้ยาปฏิชีวนะ หรือยาต้านจุลชีพที่เหมาะสมกับเชื้อ โดยแพทย์จะให้ยาผู้ป่วยตามระยะเวลาที่เพียงพอต่อการรักษา ก็สามารถทำให้หายขาดได้

– กรณีของภาวะไตอักเสบ หากติดเชื้อและไม่รักษาให้ดีตั้งแต่ต้น จะทำให้ไม่สามารถรักษาได้หายขาดแต่จะเป็นการประคับประคองอาการเท่านั้น สำหรับวิธีการรักษาอาจใช้ยาในช่วงที่อาการรุนแรง

– กรณีของโรคเอชแอลอีหรือโรคพุ่มพวง การรักษาจำเป็นต้องใช้ยากดภูมิต้านทาน

วิธีการเฝ้าสังเกตอาการโรคไตในเด็ก หากพบว่าเด็กมีอาการตาหรือหน้าบวมหลังตื่นนอน หรือมีสีของปัสสาวะที่ผิดปกติ ควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์ หากสามารถพาไปพบแพทย์ได้เร็ว จะทำให้การรักษาได้ผลดี ป้องกันภาวะไตอักเสบที่นำไปสู่ไตเรื้อรังได้อย่างมีประสิทธิภาพ



ขอขอบคุณข้อมูล : พบหมอรามา , สสส.