เขียนเมื่อ : วันเสาร์ ที่ 10 เดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ.2561 | อ่านแล้ว : 815 ครั้ง

การเลือกรับประทานป้องกัน เบาหวาน


หลีกเลี่ยงอาหารหวานจัดและเค็มจัด
น้ำตาลทรายจัดเป็นคาร์โบไฮเดรตที่อยู่ในรูปของซูโครส เมื่อรับประทานเข้าไปจะถูกย่อยเป็นกลูโคสและฟรุกโตส ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้เป็นเบาหวานจึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานขนมหวานเป็นประจำ เพราะอาจเป็นเหตุให้ไม่สามารถควบคุมน้ำตาลและไขมันในเลือดได้ รวมถึงควรหลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มจัด เพราะอาจส่งผลทำให้ความดันโลหิตสูงได้ เช่น อาหารประเภทหมัก ผักดอง ผลไม้ดอง กะปิ ปลาเค็ม ปลาแห้งและอาหารแปรรูป

รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ อย่าปล่อยให้อ้วน
การรับประทานให้ครบทุกหมู่ในปริมาณที่เหมาะสม จะช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบถ้วนและเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย สิ่งสำคัญ คือ ต้องดูแลเรื่องน้ำหนักตัว อย่าปล่อยให้อ้วน สำหรับผู้ที่เป็นเบาหวานประเภทที่ 2 หากปล่อยให้ตนเองอ้วนจะเป็นการบั่นทอนชีวิตให้สั้นลง เพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจ เส้นเลือดตีบ ตาบอดจากเบาหวานขึ้นตา โรคไตและระบบปลายประสาทเสื่อม การลดน้ำหนักที่ดีควรจะลดช้าๆ และสม่ำเสมอจะปลอดภัยกว่าการลดน้ำหนักแบบลดลงเร็ว

รับประทานข้าวสลับแป้งบางมื้อ
แม้ว่าอาหารจำพวกแป้ง เช่น ข้าว ก๋วยเตี๋ยว ขนมปัง เมล็ดธัญพืช ผักที่มีแป้งมากและถั่วเมล็ดแห้งต่างๆ จะเปลี่ยนเป็นน้ำตาลกลูโคสได้ก็ตาม แต่อาหารกลุ่มนี้ก็เป็นแหล่งพลังงานสำคัญที่ร่างกายจำเป็นต้องได้รับ เพื่อให้มีแรงในทำงานและทำกิจวัตรประจำวัน ผู้เป็นเบาหวานแล้วก็ไม่ควรงดอาหารจำพวกแป้ง แต่ควรรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ ควรเลือกบริโภคเมล็ดธัญพืชไม่ขัดสีที่ประกอบไปด้วยใยอาหาร วิตามินอีและแมกนีเซียมสูง ซึ่งมีผลต่อการควบคุมระดับน้ำตาลและอินซูลินในเลือด นอกจากนี้ใยอาหารชนิดละลายน้ำได้ในธัญพืชไม่ขัดสีบางชนิดซึ่งมีมากในข้าวโอ๊ตและบาร์เลย์ จะช่วยชะลอการย่อยและการดูดซึมน้ำตาลกลูโคสในเลือด ทำให้ระดับน้ำตาลไม่แกว่งมากอีกด้วย

รับประทานผัก และผลไม้
ผักและผลไม้เป็นแหล่งของวิตามิน แร่ธาตุต่างๆ เส้นใยอาหารที่ช่วยป้องกันเบาหวาน สารต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันโรคหลอดเลือดและความดันโลหิตสูง การจะได้ประโยชน์ในการป้องกันโรคจะต้องกินผักและผลไม้ทุกวัน อย่างน้อยวันละประมาณ 400 กรัม ตามที่องค์การอนามัยโรคแนะนำ ควรหลีกเลี่ยงผลไม้เชื่อม แช่อิ่ม กวน ตากแห้ง ดอง ผลไม้กระป๋อง เนื่องจากมีปริมาณน้ำตาลสูงและอาจมีเกลืออยู่ด้วย

ดื่มนมให้เหมาะสมตามวัย
นมเป็นแหล่งของโปรตีนและแร่ธาตุสำคัญ คือ แคลเซียมและฟอสฟอรัส ซึ่งช่วยให้กระดูกและฟันแข็งแรง นม และผลิตภัณฑ์นมไขมันเต็มจะมีไขมันอิ่มตัวและคอเลสเตอรอลสูง ควรเลือกดื่มนมและผลิตภัณฑ์นมพร่องไขมันหรือขาดไขมัน วันละ 1–2 แก้ว ผู้เป็นเบาหวานควรหลีกเลี่ยงนมเปรี้ยว นมปรุงแต่งรส หรือนมที่เติมน้ำตาลทุกชนิด



ขอขอบคุณข้อมทูลจาก : สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย เครือข่ายคนไทยไร้พุง