เขียนเมื่อ : วันจันทร์ ที่ 15 เดือน มกราคม พ.ศ.2561 | อ่านแล้ว : 1,100 ครั้ง

"หวาน มัน เค็ม" ใครกันแน่ร้ายกว่ากัน


     อาหารไทยเป็นอาหารที่มีหลากหลายรสชาติทั้ง เปรี้ยว เผ็ด หวาน เค็ม โดยความจัดจ้านของอาหารไทย ยังเป็นที่ถูกปากทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ แต่ภายใต้รสชาติแสนอร่อยนั้นก็ซ่อนอันตรายอยู่ไม่น้อย หากเราบริโภคมากเกินไป หวาน มัน เค็ม อะไรร้ายกว่ากัน หนึ่งในหัวข้อที่ถูกกล่าวถึงช่วงก่อนปีใหม่ที่ผ่านมา ในงานแถลงข่าว ส่งความสุข ด้วยผลิตภัณฑ์อาหาร OTOP เพื่อสุขภาพ โครงการส่งเสริมการผลิต และบริโภคผลิตภัณฑ์อาหาร OTOP เพื่อสุขภาพ ภายใต้การสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

มาเริ่มกันที่ หวาน – เค็ม แค่ไหนไม่เป็นโรค
     รสหวาน เป็นสารให้ความหวานในอาหาร เป็นหนึ่งในสารที่สำคัญที่สุดในชีวิตมนุษย์อีกหนึ่งชนิด แต่หากบริโภคน้ำตาลมากเกินไป ร่างกายจะเปลี่ยนน้ำตาลส่วนเกินเป็น “ไขมันสะสม” ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทำให้เกิดโรคอ้วนและนำไปสู่โรคไม่ติดต่อเรื้อรังในที่สุด โดยการบริโภคหวานให้ปลอดภัยไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกิน 6 ช้อนชาต่อวัน (1 ช้อนชา = 4 กรัม ) ซึ่งในชีวิตประจำวันจริงๆ จำกัดการบริโภคน้ำตาลให้เหลือเพียงวันละ 6 ช้อนชาได้ค่อนข้างลำบาก แต่อย่างน้อยที่สุดก็ควรปรับเปลี่ยนเพื่อลดและเลี่ยงปริมาณน้ำตาลที่ได้รับต่อวัน

     รสเค็ม ร่างกายของทุกคนมีอวัยวะที่ทำงานกับความเค็มโดยตรงคือ ไต โดยมีหน้าที่ช่วยปรับโซเดียมในร่างกายให้สมดุล ถ้าโซเดียมในร่างกายมากเกินไป ไตก็จะสั่งการให้ขับออกทางปัสสาวะ แต่ถ้าน้อยเกินไป ไตก็จะดูดโซเดียมกลับไปสู่กระแสเลือดได้ การบริโภคเกลือไม่ควรเกิน 1 ช้อนชาต่อวัน (โซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน) แต่แหล่งที่มาของรสเค็มก็ไม่ใช่แค่เกลืออย่างเดียว ซึ่งหากเป็นคนติดรสเค็มแล้วอยากลองเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการรับประทานอาหารเพื่อลดโรค เลี่ยงอาหารสำเร็จรูปและอาหารแปรรูป

     ความมัน แม้ไขมันจะมีประโยชน์ต่อการทำงานของสมองและหัวใจ แต่หากร่างกายได้รับไขมันมากเกินความจำเป็น ไขมันเหล่านั้นอาจนำไปสู่อาการป่วยของโรคไขมันอุดตันเส้นเลือด โรคหัวใจ โดยเฉพาะคนที่เผลอรับประทานอาหารประเภทไขมันไม่อิ่มตัวและไขมันทรานส์สูงเป็นประจำ โดยควรบริโภคน้ำมันไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา (ประมาณ 30 กรัม)

หากมาสรุปว่าระหว่าง หวาน มัน เค็ม อะไรที่ร้ายกว่ากัน รศ.ดร.วันทนีย์ เกรียงสินยศ ประธานคณะกรรมการบริหาร มหาวิทยาลัยมหิดล ให้คำตอบว่าทุกรสชาติจะมีความร้ายแรงต่อร่างกายเหมือนกัน หากบริโภคเกินความจำเป็นและขาดการดูแลเอาใจใส่ร่างกายด้วยการออกกำลังกาย ก็ถือเป็นหนึ่งตัวช่วยที่ทำให้เราสามารถควบคุมการบริโภคได้ง่ายยิ่งขึ้น



ขอขอบคุณข้อมูลจาก : กิดานัล กังแฮ Team Content www.thaihealth.or.th