เขียนเมื่อ : วันพุธ ที่ 3 เดือน มกราคม พ.ศ.2561 | อ่านแล้ว : 2,376 ครั้ง

อันตรายจาก ภาวะโรคโลหิตจางในผู้ป่วยเบาหวาน


ในระยะที่มีภาวะโลหิตจางเล็กน้อย มักไม่มีอาการแสดงชัดเจน หรือผู้ป่วยที่มีโลหิตจางแบบค่อยเป็นค่อยไปทีละน้อย ผู้ป่วยก็อาจไม่รู้สึกว่าตัวเองมีอาการผิดปกติใดๆ ก็ได้ ในรายที่มีภาวะโลหิตจางมาก หรือเกิดขึ้นฉับพลัน ก็มักจะมีอาการอ่อนเพลีย ทำอะไรรู้สึกเหนื่อยง่าย หน้ามืด มึนงง เวียนศีรษะ เบื่ออาหาร ถ้าเป็นมากอาจมีอาการใจหวิว ใจสั่นร่วมด้วย ผู้ที่มีภาวะโลหิตจางชัดเจน มักพบว่ามีอาการหน้าตาซีดเซียว ฝ่ามือซีด เล็บซีด เยื่อบุในเปลือกตา ริมฝีปาก และลิ้นซีดขาวกว่าปกติ

ภาวะโลหิตจาง เป็นอาการแสดงของโรค ซึ่งอาจมีสาเหตุได้หลากหลาย นอกจากภาวะขาดธาตุเหล็กแล้ว ยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น

- ภาวะขาดอาหาร หรือโปรตีน ซึ่งเป็นองค์ประกอบร่วมกับธาตุเหล็กในการสร้างเม็ดเลือดแดง นอกจากภาวะซีดแล้ว ผู้ป่วยอาจมีอาการขาดอาหาร เช่น ผอมแห้ง เท้าบวม ผมแดง เป็นต้น

- ธาลัสซีเมีย ซึ่งเป็นโรคโลหิตจาง เนื่องจากมีความผิดปกติทางพันธุกรรม ทำให้ร่างกายสร้างเม็ดเลือดแดงที่ผิดปกติ แตกสลายง่าย จึงมีอาการซีดเหลืองอย่างเรื้อรังมาตั้งแต่เล็ก มีหน้าตาแปลก ม้ามโต (คลำได้ก้อนที่บริเวณใต้ชายโครงซ้าย) พบมากในคนภาคอีสานและคนภาคเหนือ

- โลหิตจางจากภาวะไขกระดูกฝ่อ หรือมะเร็งเม็ดเลือดขาว ผู้ป่วยมักมีอาการซีดร่วมกับไข้ มีจุดแดงจ้ำเขียวตามผิวหนัง มีเลือดออกตามที่ต่างๆ (เช่น เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน)

- ไตวายเรื้อรัง ผู้ป่วยมักมีอาการซีด อ่อนเพลียร่วมกับคลื่นไส้ เท้าบวม มักมีประวัติเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือโรคไตมาก่อน

ภาวะโลหิตจาง เป็นภาวะที่พบบ่อยในผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือ โรคไตเรื้อรังร่วมด้วย ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ และสัมพันธ์กับการเกิดภาวะโลหิตจางในผู้ป่วยกลุ่มนี้คือ การทำงานของไตบกพร่อง การระบุมีภาวะโลหิตจาง และการมีโรคไตเรื้อรังอย่างรวดเร็วเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อป้องกันการดำเนินของภาวะดังกล่าวและผลแทรกซ้อนรุนแรงที่จะตามมาในประชากรกลุ่มนี้
     อาการโลหิตจางที่สัมพันธ์กับโรคเบาหวานนั้นจะเกิดขึ้นทีละน้อย ยิ่งกินน้ำตาล หรือร่างกายเสื่อมไม่สามารถเผาผลาญพลังงานได้จากอาหารเมื่อใด กลไกนี้ก็จะเริ่มทันทีและใช้เวลาหลายปี จนทำให้ภาวะโลหิตจางจากการขาดโปรตีนเพิ่มความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ก่อนตรวจพบโรค ผู้ป่วยจะรู้ตัวว่ามีภาวะร่างกายปกติรบกวนชีวิตประจำวันอยู่ แต่ไม่ถึงกับต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล เมื่อตรวจพบอีกครั้งอาการก็เป็นมากแล้ว
      ดังนั้นในผู้ที่มีภาวะร่างกายผิดปกติก่อนเป็นโรคเบาหวาน และผู้ป่วยโรคเบาหวานนั้นจะมีภาวะแทรกซ้อนมาก และภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวเกิดจากภาวะโลหิตจางจากการขาดโปรตีนเป็นสำคัญ ทำให้รักษาตัวไม่หายขาด หรือมีชีวิตการเป็นอยู่ไม่ดีขึ้น และที่สำคัญ อายุไม่ยืน มักจะมีภาวะไตวาย ต้องระวังในกรณีมีโรคมะเร็งอยู่ด้วย จึงต้องค้นหาสาเหตุให้พบ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก : สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย เครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย