เขียนเมื่อ : วันศุกร์ ที่ 24 เดือน พฤศจิกายน พ.ศ.2560 | อ่านแล้ว : 1,369 ครั้ง

มะเฟือง...กับภาวะไตวายเฉียบพลัน


  คนไทยรู้จักมะเฟืองมานาน และด้วยรสชาติหวานอมเปรี้ยวนี่เอง จึงเป็นที่นิยมรับประทานเป็นผลไม้สด หรือคั้นเป็นน้ำผลไม้ หรือนิยมรับประทานผลดิบเป็นผัก เช่น ในอาหารเวียตนาม เป็นต้น อย่างไรก็ตามมีรายงานถึงภาวะไตวายเฉียบพลันหลังการรับประทานผล หรือน้ำมะเฟือง โดยสาเหตุของไตวายเฉียบพลันดังกล่าว เกิดจากการมีผลึกนิ่วออกซาเลตจำนวนมากตกตะกอนในเนื้อไต (Acute oxalate nephopathy) เนื่องจากมะเฟืองเป็นพืชที่มีออกซาเลต (Oxalate) สะสมอยู่เป็นจำนวนมาก แต่การเกิดภาวะไตวายไม่ได้เกิดไม่ได้เกิดกับผู้ป่วยทุกราย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณที่รับประทานและภาวะพร่องหรือขาดน้ำในผู้ป่วย นอกจากนี้ผู้ป่วยส่วนหนึ่งมีภาวะไตวายจากสาเหตุเดียวกันนี้ หลังรับประทานผลส้มดิน ซึ่งเป็นพืชในกลุ่มเดียวกับมะเฟือง แต่มีปริมาณออกซาเลตสูงกว่า

  ภาวะพิษจากการรับประทานผลมะเฟือง ไม่ได้เกิดกับไตเท่านั้นแต่มีผลต่อระบบอื่น ๆ ด้วย โดยสามารถสรุปอาการและอาการแสดงตามระบบ เพื่อให้สะดวกต่อการสังเกตพิษจากมะเฟืองดังนี้คือ

 1. พิษต่อระบบทางเดินอาหาร (Gastrointestinal toxicity) เนื่องจากออกซาเลตในมะเฟือง มีสมบัติเป็นกรด ดังนั้นถ้ารับประทานในปริมาณมาก จะทำให้รู้สึกปวดแสบมวนท้อง จากการที่กรดจากผลมะเฟืองระคายเคืองทางเดินอาหาร (Corrosive effect) ซึ่งถ้ารุนแรงมาก อาจมีการคลื่นไส้อาเจียน ปวดมวนท้อง รับประทานอาหารและน้ำได้น้อยลง

 2. พิษต่อไต (renal toxicity) เกิดขึ้นในหลายฃั่วโมงถัดมาหลังจากรับประทานอาหาร ผู้ป่วยจะมาด้วยภาวะไตวายเฉียบพลัน กล่าวคือ อาจมีปัสสาวะออกน้อยลง บวมน้ำ ความดันโลหิตสูงขึ้น น้ำท่วมปอด อ่อนเพลีย หรือบางรายอาจมาด้วยอาการสะอึก เนื่องจากของเสียในร่างกายคั่งจากการที่ไตไม่สามารถขับของเสียและน้ำส่วนเกินออกจากร่างกายได้ และอาจต้องได้รับการฟอกเลือดล้างไตในที่สุด พบว่าถ้ามีภาวะไตวายเฉียบพลันเกิดขึ้น หลังหยุดรับประทานมะเฟือง กว่าไตจะกลับมาทำงานได้ตามปกติอาจใช้เวลานาน ประมาณ 3-4 สัปดาห์

 3. พิษต่อระบบประสาท (neurotoxicity) มีรายงานว่า ในผลมะเฟืองอาจมีสารที่เป็นพิษกับระบบประสาทด้วย ซึ่งผู้ป่วยอาจมีความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลงไปจากการที่สมองบวม (cerebral edema) หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (sterile meningitis) จากการที่มีผลึก calcium oxalate ไปเกาะที่ผนังหลอดเลือดบริเวณเยื่อหุ้มสมอง อย่างไรก็ตาม รายงานการเกิดพิษลักษณะนี้พบได้น้อยมาก และผู้ป่วยมักต้องรับประทานผลมะเฟืองเป้นจำนวนมาก รายงานของผู้ป่วยมักมีเฉพาะ ในระบบทางเดินอาหาร และนิ่วผลึกออกซาเลต ที่ไต


ที่มา : นพ. ฉัตรชัย กรีพละ
หน่วยโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
รศ.ดร. สรัญญา วัชโรทัย
ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์