เขียนเมื่อ : วันพฤหัสบดี ที่ 23 เดือน พฤศจิกายน พ.ศ.2560 | อ่านแล้ว : 1,487 ครั้ง

4 เทคนิคสุขภาพ กินอยู่สู้ไขมัน ลดคอเลสเตอรอล


อาหารจากพืชไร้คอเลสเตอรอล

ผัก ผลไม้ ธัญพืชนานาชนิด นับเป็นอาหารจากธรรมชาติที่ปราศจากคอเลสเตอรอล หลายคนที่หันมากินอาหารมังสวิรัติ ลดอาหารจากเนื้อสัตว์ จึงมีระดับคอเลสเตอรอลร้ายในเลือดลดลงอย่างเห็นได้ชัด ฉะนั้นวิธีลดอาหารจากเนื้อสัตว์และเพิ่มอาหารจากพืชในอาหารมื้อหลักจึงเป็น แนวทางสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์แปรรูปหลายชนิด ที่ไม่มีส่วนประกอบของเนื้อสัตว์ จึงโฆษณาอย่างมั่นใจว่าเป็นผลิตภัณฑ์ไร้คอเลสเตอรอล แม้ไร้คอเลสเตอรอลแต่ก็ไม่ได้ หมายความว่าปลอดจากไขมันอิ่มตัวที่มีผลเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลในร่างกายภายหลัง จึงแนะนำว่า ก่อนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์แปรรูปใด ๆ ควรสังเกตบนฉลากผลิตภัณฑ์ว่า ปลอดไขมันอิ่มตัวหรือมีไขมันอิ่มตัวต่ำร่วมด้วย

กินผัก, ลดคอเลสเตอรอล

วิธีช่วยเพิ่มไขมันดี

งดสูบบุหรี่ เพราะไม่เพียงทำให้ระดับคอเลสเตอรอลชนิดดีลดลง ยังมีผลให้ผนังหลอดเลือดแข็งแรง เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดอีกด้วย

ควบคุมให้น้ำหนักอยู่ในระดับปกติ (น้ำหนักตัวไม่ควรมากกว่า = ส่วนสูง (เมตร) x ส่วนสูง (เมตร) x 22.9) เพราะน้ำหนักตัวที่ลดลงทุก 1 กิโลกรัม สามารถเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิดดีถึง 0.35 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์สูง เช่น เนื้อสัตว์ติดหนังติดมัน อาหารทอดน้ำมันท่วม ขนมปังและเบเกอรี่ที่มีส่วนประกอบของเนยและมาการีน เพราะไขมันเหล่านี้ไม่เพียงลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดดี ยังมีผลเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลร้ายชนิดแอลดีแอลด้วย

สเตอรอล สตานอล

สเตอรอล (Sterol) และสตานอล (Stanol) จากพืชเป็นสารในกลุ่มสเตียรอยด์ มีโครงสร้างคล้ายกับคอเลสเตอรอล ดังนั้นเมื่อเข้าสู่ร่างกายจะเคลื่อนที่ไปในระบบทางเดินอาหาร เข้าขัดขวางการดูดซึมของคอเลสเตอรอลเข้าสู่กระแสเลือดและขับไขมันร้ายออกจากร่างกายพร้อมอุจจาระ แหล่งอาหารที่พบสเตอรอลและสตานอล ได้แก่ อะโวคาโด น้ำมันข้าวโพด รำข้าว เมล็ดพืช ถั่วเหลือง และผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง รวมถึงจมูกข้าว

ข้าวบาร์เลย์, ลดคอเลสเตอรอล

ข้าวบาร์เลย์ช่วยลดไขมันไม่แพ้ข้าวโอ๊ต

มหาวิทยาลัยคอนเนตทิคัต ประเทศสหรัฐอเมริกา ตีพิมพ์ผลการศึกษาที่ผ่านมาในวารสาร American Academy of Family Physicians แสดงให้เห็นว่า ข้าวบาร์เลย์ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลร้ายในเลือดได้ โดยทดลองให้อาสาสมัคร 300 คนกินข้าวบาร์เลย์ทุกวัน ติดต่อกันตั้งแต่ 4 – 12 สัปดาห์ พบว่าคอเลสเตอรอลรวมลดลงถึง 8 – 18 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร และแอลดีแอลคอเลสเตอรอลลดลง 6 – 14 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร นักวิจัยอธิบายว่าข้าวบาร์เลย์มีส่วนประกอบของใยอาหารละลายน้ำชนิดเบต้ากลูแคน (Beta Glucan) ปริมาณสูง จึงช่วยชะลอและลดการดูดซึมคอเลสเตอรอลเข้าสู่กระแสเลือด

ที่มา : mrgonline