เขียนเมื่อ : วันพุธ ที่ 22 เดือน พฤศจิกายน พ.ศ.2560 | อ่านแล้ว : 2,570 ครั้ง

รู้จักและเข้าใจกับตัวเลขความดันโลหิต


ปัจจุบันโรคความดันโลหิตสูง นับเป็นหนึ่งในปัญหาสาธารณสุขสำคัญที่กำลังคุกคาม โดยในปัจจุบันมีประชากรหลายร้อยล้านคนทั่วโลกเป็น โรคความดันโลหิตสูง และมีการคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2568 ผู้มีภาวะความดันโลหิตสูงจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 พันล้านคน
สำหรับประเทศไทย จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขคาดว่า จะมีผู้มีภาวะความดันโลหิตสูง หรือเป็น โรคความดันโลหิตสูง ประมาณ 10 ล้านคน ซึ่ง 70% ของคนกลุ่มนี้ไม่ทราบว่าตนเองมีภาวะดังกล่าว ทำให้ไม่ได้รับการรักษาหรือการปฏิบัติตนอย่างถูกต้องเหมาะสม อันจะนำไปสู่การเกิดโรคแทรกซ้อนมากมาย อาทิ อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ซึ่งอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ด้วย
ดังนั้นเราจึงควรหันมาใส่ใจและให้ความสำคัญกับตัวเลขความดันโลหิตของเรากันได้แล้ว เพื่อความปลอดภัยและป้องกันภาวะการเจ็บป่วยฉุกเฉิน

สำหรับการวัดระดับความดันโลหิต

• ค่าตัวบนเรียกว่า ความดันช่วงหัวใจบีบ (ความดันซิสโตลิก:systolic) หมายถึงความดันเมื่อหัวใจบีบตัว
• ค่าตัวล่างเรียกว่า ความดันช่วงหัวใจคลาย (ความดันไดแอสโตลิก:diastolic) หมายถึง ความดันเมื่อหัวใจคลายตัว
โดยความดันโลหิตที่เรียกว่า "เหมาะสม" ในผู้ใหญ่ที่อายุมากกว่า 18 ปี คือ ตัวบนไม่เกิน120 มม.ปรอท และตัวล่างไม่เกิน 80มม.ปรอท เรียกสั้น ๆ ว่า 120/80
โดยความดันโลหิตที่ "อยู่ในเกณฑ์ปกติ" คือ 120-129/80-84 มม.ปรอท
ความดันโลหิตสูงเล็กน้อย แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ คือ 130-139/85-89 มม.ปรอท
ความดันโลหิตสูง คือ ความดันโลหิตตัวบนมากกว่า (หรือเท่ากับ) 140 และตัวล่างมากกว่า (หรือเท่ากับ) 90 มม.ปรอท



ที่มา : เอกสารเผยแพร่โรงพยาบาลศิริราช