เขียนเมื่อ : วันศุกร์ ที่ 10 เดือน พฤศจิกายน พ.ศ.2560 | อ่านแล้ว : 1,979 ครั้ง

กินอาหารทะเลแล้วคอเลสเตอรอลสูง จริงหรือ?


 พอคิดจะรับประทานอาหารทะเลจานโปรดแล้ว จะต้องโดนเบรกด้วยความคิดว่า “อาหารทะเลไม่ดีต่อสุขภาพ เพราะคอเลสเตอรอลเยอะ” ทุกครั้งไป โดยเราก็ไม่ได้ทราบข้อมูลว่าจริงเท็จเพียงใด ดังนั้น เพื่อให้ทุกคนเพลิดเพลินกับการทานอาหารทะเลครั้งต่อไปมากขึ้น เราจึงได้รวบรวมคำอธิบายเรื่องคอเลสเตอรอล ที่อาจจะเปลี่ยนความเชื่อเดิมๆ ว่า อาหารทะเลทานแล้วไม่ดีต่อสุขภาพ ทานแล้วอ้วน ไปได้อย่างสิ้นเชิงค่ะ

ถ้าเทียบแต่ปริมาณคอเลสเตอรอลนั้น อาหารทะเลจำพวกกุ้งและปู มีปริมาณคอเลสเตอรอลอยู่สูงกว่าเนื้อสัตว์ชนิดอื่นจริง ส่วนพวกปลาและหอยนั้นมีคอเลสเตอรอลน้อยกว่าเนื้อสัตว์อื่น โดยในน้ำหนัก 3 ออนซ์ หรือประมาณ 85 กรัม กุ้งและปูมีคอเลสเตอรอลประมาณ 100 มิลลิกรัม เนื้อวัวบดไม่ติดมัน (85 เปอร์เซ็นต์) มีคอเลสเตอรอลที่ 58 มิลลิกรัม ส่วนพวกปลาทะเลและหอยต่างๆ จะมีคอเลสเตอรอลอยู่เพียง 34-40 มิลลิกรัม

แต่ในการเปรียบเทียบข้างต้นนั้นไม่ได้พูดถึงประเภทของไขมัน ที่อยู่ในเนื้อสัตว์ทะเลกับเนื้อสัตว์ประเภทอื่นๆ ที่มีผลต่อปริมาณคอเลสเตอรอลซึ่งร่างกายเราจะได้รับเป็นอย่างมาก

โดยไขมันมี 2 ประเภท ได้แก่

1. ไขมันอิ่มตัว เป็นไขมันที่มีส่วนต่อการเพิ่มคอเลสเตอรอลในร่างกาย ไขมันชนิดนี้เมื่อได้รับเข้าไป ก็จะไปเพิ่มทั้ง HDL หรือไขมันดี และ LDL หรือไขมันไม่ดี ให้สะสมอยู่ในกระแสเลือด ​

2. ไขมันไม่อิ่มตัว ไขมันชนิดนี้เมื่อเรารับเข้าไป ก็จะไปเพิ่ม HDL หรือไขมันดี ช่วยป้องกันไตรกลีเซอร์ไรด์ และลด LDL หรือไขมันไม่ดีในกระแสเลือดได้ ซึ่งตัวไขมันไม่ดีที่สะสมอยู่ในกระแสเลือดนั้น หากไม่ได้รับไขมันดีมาช่วย ก็จะสามารถทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแข็งตัว จะเกิดการลำเลียงคอเลสเตอรอลจากตับสู่กระแสเลือด ก่อให้เกิดโรคต่างๆ ทั้งหลอดเลือดอุดตัน ความดันสูง หัวใจขาดเลือด เป็นต้น

 ในอาหารทะเลส่วนใหญ่ มีไขมันอิ่มตัวน้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของไขมันอิ่มตัวในเนื้อวัวเสียอีก แถมไขมันไม่อิ่มตัวที่โดดเด่นมากในอาหารทะเล คือ กรดไขมันโอเมก้า 3 ที่มีส่วนช่วยลดการอุดตันของหลอดเลือด ลดความเสี่ยงโรคหัวใจและโรคร้ายอีกหลายชนิด ซึ่งโอเมก้า 3 นี้พบได้น้อยมากในเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆ

ที่มา : boxoffish