เขียนเมื่อ : วันเสาร์ ที่ 19 เดือน สิงหาคม พ.ศ.2560 | อ่านแล้ว : 922 ครั้ง

5 กฎเหล็ก หากอยากลดน้ำหนักให้ได้ผลชัวร์


หลายคนประสบปัญหาเรื่องน้ำหนักและไขมันส่วนเกินของร่างกาย ซึ่งอาจกำลังวางแผน ลดน้ำหนัก ด้วยการพยายามคุมอาหาร แต่ยังสับสนปนไม่แน่ใจว่า จะบาลานซ์การควบคุมอาหารแบบไหนให้พอเหมาะ พอดีกับความต้องการของร่างกาย เพราะถ้าควบคุมอาหารมากเกินไปก็จะส่งผลเสียต่อร่างกายได้ หรือถ้าน้อยเกินไปอาจจกลายเป็นว่าน้ำหนักลดช้าหรืออาจไม่ลดเลยหรือเปล่า เราจะมาแนะนำกฏของการลดน้ำหนัก เพื่อให้การควบคุมอาหารและลดน้ำหนักของคุณประสบความสำเร็จตรงตามความต้องการ

1. รู้ปริมาณอาหารที่พอเหมาะ
เราขอเสนอทริคง่ายๆ ของการกะปริมาณอาหารที่เหมาะสมกับร่างกายด้วย “มือ” ที่จะเป็นตัวช่วยในการจัดการเรื่องปริมาณอาหารที่เหมาะสม วิธีการก็ไม่ยุ่งยากเลย
– ฝ่ามือ = หนึ่งส่วนของเนื้อแดง, เนื้อปลาและสัตว์ปีก
– กำปั้น = หนึ่งส่วนของข้าว, ผลไม้และผัก
– หนึ่งกำมือ = ลูกเกด ถั่ว สำหรับกินเป็นของว่าง
– สองกำมือ = ซุป สลัด หรือซีเรียล
– นิ้วหัวแม่มือ = ชีส, เนย, น้ำมัน หรือน้ำตาล

2. ตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน
การชั่งน้ำหนักสำหรับผู้ที่น้ำหนักเกินค่อนข้างจะเป็นเรื่องยาก เพราะไม่อยากเห็นตัวเลขที่ขึ้นเอาๆ แล้วพาลจะทำให้ปวดใจจิตตกเปล่าๆ แต่การลดน้ำหนักให้ได้ผลนั้น เราจะต้องคอยติดตามความคืบหน้าของการลดน้ำหนักผ่านการชั่งน้ำหนักและจดบันทึกว่าเริ่มต้นวันไหน ออกกำลังกายอย่างไร ขนาดสัดส่วนต่างๆ ของร่างกายเท่าไร เพื่อที่จะสามารถติดตามผลได้

3. ห้ามอดอาหารโดยเด็ดขาด
การอดอาหารและการใช้ยาลดน้ำหนักนั้น ในระยะยาวไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพของคุณเลย และในท้ายที่สุดคุณก็จะกลับมาอ้วนแบบโย่โย่อย่างแน่นอน เพราะการอดอาหารจะทำให้ร่างกายของคุณเริ่มเข้าสู่ระบบเก็บสะสมไขมัน ซึ่งร่างกายเรียนรู้ว่าต้องกักตุนพลังงานสำรองไว้ใช้ก่อน เนื่องจากภาวะร่างกายได้พลังงานน้อยกว่าปกตินั้นเอง

4. ต้องพักผ่อนอย่างเพียงพอ
การพักผ่อนที่น้อยเกินไป และอดนอนจะทำให้ร่างกายปรับเปลี่ยนระดับฮอร์โมน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความหิวอาหาร เป็นสาเหตุให้เกิดความอยากอาหารมากกว่าปกติ อย่างน้อยควรพักผ่อนหลับอย่างต่อเนื่อง 6 ชั่วโมงขึ้นไป

5. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อดึก
ต่อเนื่องมาจากการอดนอนและพักผ่อนไม่เพียงพอ จะส่งผลถึงความอยากอาหารที่มากกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการหิวขึ้นมาช่วงดึก และถ้าหากเรารับประทานอาหารที่มากเกินไปในเวลากลางคืน ซึ่งเป็นช่วงที่ร่างกายไม่ค่อยได้ใช้พลังงานในการทำกิจกรรมอะไรมากมายนัก จะทำให้อาหารที่เรารับประทานเข้าไปนั้นสะสมในรูปแบบของไขมันอยู่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งจะส่งผลให้เกิดภาวะโรคอ้วนในอนาคตได้