เขียนเมื่อ : วันจันทร์ ที่ 31 เดือน กรกฎาคม พ.ศ.2560 | อ่านแล้ว : 1,635 ครั้ง

ไตวาย สาเหตุ การรักษาโรคไตวาย


ไตวาย (Kidney Failure หรือ Renal Failure) คือภาวะที่ไตสูญเสียความสามารถในการกรองของเสียออกจากเลือด จนไม่สามารถขับของเสียออกมาจากร่างกายผ่านทางปัสสาวะได้ ทำให้มีของเสียตกค้างในร่างกาย อีกทั้งยังทำให้ระดับน้ำ เกลือแร่และแร่ธาตุต่างๆ ในร่างกายเกิดความไม่สมดุล หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที จะทำให้ระบบการทำงานภายในร่างกายเกิดความผิดปกติ และเป็นอันตรายแก่ชีวิต

ระยะที่ 1 ในช่วงแรกของอาการไตวายเรื้อรังจะไม่มีอาการแสดงให้เห็นชัดเจน แต่สามารถทราบได้ด้วยวิธีการตรวจทางพยาธิวิทยา แต่อาจพบอาการไตอักเสบ หรือพบภาวะโปรตีนรั่วออกมาปะปนในเลือดหรือในปัสสาวะ

ระยะที่ 2 เป็นระยะที่การทำงานของไตเริ่มลดลง แต่ยังไม่มีอาการใดๆ แสดงให้เห็นนอกจากการตรวจค่าการทำงานของไตเช่นเดียวกัน ซึ่งค่าการทำงานของไตจะเหลือเพียง 60-89 ml/min

ระยะที่ 3 ในระยะนี้ จะถูกแบ่งออกเป็นอีก 2 ระยะย่อย คือ 3A และ 3B ตามค่าการทำงานของไต โดย 3A จะมีค่าการทำงานของไตอยู่ที่ 45-59 ml/min ส่วน 3B จะอยู่ที่ 30-44 ml/min ซึ่งในระยะที่ 3 ก็จะยังไม่มีอาการใดๆ สำแดงให้เห็นนอกจากค่าการทำงานของไตที่ทำงานลดลงอย่างต่อเนื่อง

ระยะที่ 4 อาการต่างๆ จะสำแดงในระยะนี้ นอกจากค่าการทำงานของไตจะลดลงเหลือเพียง 15-29 ml/min ผู้ป่วยอาจจะมีอาการมึนงง เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ผิวแห้งและคัน กล้ามเนื้อเป็นตะคริวบ่อยขึ้น มีอาการบวมน้ำที่ตามข้อ ขา ใต้ตาคล้ำ ปวดปัสสาวะบ่อย แต่ปริมาณปัสสาวะน้อยลงหรือรู้สึกไม่สบายเนื้อไม่สบายตัวตลอดเวลา

ระยะที่ 5 เป็นระยะสุดท้ายของภาวะไตวาย นอกจากอาการที่คล้ายกับระยะที่ 4 แล้ว อาจมีภาวะโลหิตจางที่รุนแรงขึ้น และอาจมีการตรวจพบการเสียสมดุลของแคลเซียม ฟอสเฟต หรือสารต่างๆ ที่อยู่ในเลือด นำมาสู่ภาวะกระดูกบางและเปราะหักง่าย ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจเสียชีวิตได้

สาเหตุของโรคไตวาย
- การสูญเสียเลือดหรือน้ำในร่างกายมากเกินไป ส่งผลให้ไตเสื่อมประสิทธิภาพในการทำงานลงอย่างเฉียบพลัน
- ความดันโลหิตสูง ส่งผลให้ผนังหลอดเลือดที่ไหลเวียนเลือดไปที่ไตผิดปกติ หากมีภาวะความดันโลหิตสูงเป็นระยะเวลานานโดยไม่ได้รับการรักษา อาจเป็นสาเหตุหนึ่งให้ไตเสื่อมได้ในที่สุด
- โรคเบาหวาน ระดับน้ำตาลในเลือดส่งผลโดยตรงกับไตทำให้ไตเสื่อม ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานส่วนมากจึงมีความเสี่ยงที่จะเป็นไตวายเรื้อรัง
- อาการแพ้อย่างรุนแรง จนทำให้ระบบการทำงานในร่างกายล้มเหลว ส่งผลกระทบต่อการทำงานของไต
- การทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายล้มเหลว อาทิ หัวใจวาย หัวใจล้มเหลว ตับล้มเหลว ที่กระทบต่อระบบไหลเวียนเลือดทั่วร่างกายจนทำให้ไตได้รับเลือดไปไหลเวียนไม่เพียงพอ
- การติดเชื้อ การติดเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรียบางชนิด เมื่อแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด เชื้อโรคเหล่านี้จะถูกพาไปยังไต และทำให้ไตถูกทำลาย
- ผลข้างเคียงจากการใช้ยา อาทิ ยาแอสไพริน (Aspirin) ยาไอบูโพรเฟน (ibuprofen) หรือ ยานาพรอกเซน (Naproxen) หากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานเกินไป หรือซื้อใช้เองโดยไม่อยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร อาจนำมาสู่ภาวะไตเสื่อม
- ปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น ลิ่มเลือดอุดตันในทางเดินปัสสาวะ ต่อมลูกหมากโตในเพศชาย นิ่วในไต หรือโรคมะเร็งที่ส่งผลให้เกิดก้อนเนื้อไปขัดขวางระบบทางเดินปัสสาวะจนทำให้ไตขับปัสสาวะออกมาไม่ได้ และเกิดภาวะเสื่อมของไตในที่สุด
- ได้รับสารพิษ เมื่อสารพิษเข้าสู่ร่างกาย ร่างกายจะพยายามขับออกมาทางปัสสาวะ ทำให้ไตทำงานหนักขึ้น สารพิษบางชนิดอาจทำลายไตจนทำให้ไตวายได้

วิธีการป้องกันโรคไตวาย ไตวายอาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่ก็สามารถป้องกัน และชะลอการเกิดภาวะนี้ได้ด้วยการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ลดปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลเสียต่อไตในระยะสั้นและระยะยาว ดังนี้
1.หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
2.เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม โดยไม่ควรรับประทานเกลือเกินวันละ 6 กรัม
3.ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควรออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที โดยออกกำลังกายให้หนักปานกลาง เพื่อลดปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดภาวะไตวาย ได้แก่ ความดันโลหิต ระดับน้ำตาลในเลือด เป็นต้น
4.ลดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
5.ควบคุมน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
6.หลีกเลี่ยงการใช้ยาต้านการอักเสบอย่าง เช่น ibuprofen ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
ผู้ที่ป่วยด้วยโรคประจำตัวอย่าง โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง หรือโรคไขมันในเลือด ควรรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง เพื่อควบคุมไม่ให้อาการรุนแรงขึ้นและทำให้การทำงานของไตหนักขึ้น หรือทำให้ไตเสื่อมสภาพลง


(ขอบคุณข้อมูลจาก : เว็บไซต์พบแพทย์.com)