เขียนเมื่อ : วันจันทร์ ที่ 31 เดือน กรกฎาคม พ.ศ.2560 | อ่านแล้ว : 957 ครั้ง

สุรามาเป็นระยะ ตับวาย ตายแน่นอน!


"การดื่มสุราทำให้ความสามารถในการขับขี่ยานพาหนะลดลง" เป็นประโยคที่ได้ยินกันบ่อยๆ จนแทบจะชินหูและชินความรู้สึกกันไปแล้วก็ได้ว่า เมื่อเหล้าเข้าปาก อย่างมากก็แค่ขับรถเป๋นิดหน่อย
ลองยกตัวอย่างวิธีคำนวณปริมาณแอลกอฮอล์ของเครื่องดื่มหลายๆ ชนิด เช่น เบียร์ 100 มิลลิลิตร มีแอลกอฮอล์ประมาณ 4 กรัม การดื่มเบียร์ประมาณ 1 กระป๋อง จะทำให้เราได้รับแอลกอฮอล์ประมาณ 13 กรัมหรือถ้ารับประทานไวน์ 1 แก้ว (100 มิลลิลิตร) มีปริมาณแอลกอฮอล์ 12 กรัม แต่สำหรับเครื่องดื่มที่เป็นวิสกี้นั้น มีปริมาณแอลกอฮอล์ 40 กรัมต่อวิสกี้ 100 มิลลิลิตร การดื่มวิสกี้ประมาณ 2 ฝา จะให้แอลกอฮอล์ประมาณ 15 กรัม

จะเห็นได้ว่าสุดท้ายไม่ว่าจะดื่มเหล้าหรือไวน์ก็ได้รับปริมาณแอลกอฮอล์เข้าสู่ตับของผู้ดื่มในระดับใกล้เคียงกัน ในทางการแพทย์ถือว่าการรับประทานแอลกอฮอล์ 12-15 กรัม เท่ากับปริมาณแอลกอฮอล์ 1 หน่วย จากการศึกษาพบว่า ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าวันละ 5 หน่วย หรือ 80 กรัม ติดต่อกันเป็นเวลาหลายๆ ปีมักมีปัญหา“ตับถูกทำลาย”
1. ไขมันสะสมในตับ (Alcoholic fatty liver) เป็นการเปลี่ยนแปลงในระยะเริ่มต้น ผู้ป่วยมักจะไม่มีอาการ แต่ถ้าตรวจร่างกายอาจพบว่าตับมีขนาดใหญ่ ผิวเรียบ นุ่มและกดไม่เจ็บ การตรวจเลือดอาจพบความผิดปกติเล็กน้อย ถ้าผู้ป่วยในระยะนี้หยุดดื่มสุรา ตับจะสามารถกลับเป็นปกติโดยไม่มีพยาธิสภาพตกค้างอยู่แต่อย่างใด

2. ตับอักเสบจากแอลกอฮอล์ (Alcoholic Hepatitis) ผู้ป่วยในระยะนี้ อาจมาพบแพทย์ได้ด้วยอาการน้อยๆ เช่น จุกแน่นที่บริเวณชายโครงด้านขวา ไปจนถึงมีอาการรุนแรง เช่น อาการดีซ่าน ไข้สูง มีการเปลี่ยนแปลงทางสติสัมปชัญญะ ไปจนถึงอาการตับวายได้ บางครั้งผู้ป่วยอาจมีอาการทางสมอง ได้แก่ อาการสับสน วุ่นวายหรืออาจหมดสติได้ จะเป็นกลุ่มผู้ที่มีโอกาสเสียชีวิตได้สูง มักจะมีภาวะขาดสารอาหารและไวตามิน

3. ตับแข็งจากแอลกอฮอล์ (Alcoholic Cirrhosis) น่าจะเรียกได้ว่าผู้ป่วยระยะสุดท้าย เพราะถึงขนาดมีผังผืดเกิดขึ้นในเนื้อตับ ผิวตับไม่เรียบ ขรุขระเป็นก้อน และมีขนาดเล็กลง ผู้ป่วยในระยะนี้มักจะมาพบแพทย์ด้วยอาการดีซ่าน ท้องมาน อาเจียนเป็นเลือดสดๆ เนื่องจากเส้นเลือดขอดในหลอดอาหารแตก มีภาวะทุกขโภชนาการ กล้ามเนื้อลีบ มีเส้นเลือดขยายตามผิวหนังในส่วนบริเวณอก หลังและริดสีดวงทวาร การหยุดดื่มจะช่วยป้องกันมิให้เกิดการเสียหายเพิ่มขึ้น แต่ไม่สามารถกลับเป็นตับปกติได้อีก

เมื่อทราบดีกันแล้วว่า “ทุกครั้งที่ดื่มเหล้า เท่ากับเรากำลังทำร้ายตับ” ถ้ายังไม่สามารถเลิกได้โดยเด็ดขาดหรือเลิกได้ในทันที “การพักดื่ม” จึงเท่ากับ “การพักตับ” และนั่นหมายถึงการเปิดโอกาสให้ตับได้มีโอกาสฟื้นฟูตัวเอง อย่างน้อยก็ในช่วงเข้าพรรษาสามเดือนนี้