เขียนเมื่อ : วันจันทร์ ที่ 17 เดือน กรกฎาคม พ.ศ.2560 | อ่านแล้ว : 1,056 ครั้ง

ภาวะท้องผูกเกิดจากอะไร และเมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์


อาการท้องผูก (Constipation) เป็นอาการที่พบได้บ่อยในคนไทยและประชากรทั่วโลก มีการศึกษาพบว่าร้อยละ 24 ของประชาชนชาวไทยคิดว่าตนเองมีปัญหาท้องผูก อาการท้องผูกที่ใช้กันทางการแพทย์จะหมายถึงผู้ป่วยที่มีอาการอย่างน้อย 2 ใน 6 อาการต่อไปนี้ คือ

1.ถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้ง/สัปดาห์

2.เวลาถ่ายอุจจาระต้องเบ่งมากกว่าปกติ

3.อุจจาระเป็นก้อนแข็งกว่าปกติ

4.รู้สึกถ่ายอุจจาระไม่สุด

5.มีความรู้สึกว่าถ่ายไม่ออกเนื่องจากมีสิ่งอุดกั้นบริเวณทวารหนัก

6.ต้องใช้นิ้วมือช่วยในการถ่ายอุจจาระ โดยถ้ามีอาการนานมากกว่า 3-6 เดือน จะถือว่าเป็นท้องผูกเรื้อรัง

เมื่อไรที่ผู้ป่วยอาการท้องผูกควรไปพบแพทย์
ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยที่มีอาการท้องผูกจะตรวจไม่พบโรคทางกาย มีเพียงส่วนน้อยไม่ถึงร้อยละ 10 ที่จะพบสาเหตุ มีการศึกษาวิจัยพบว่าผู้ป่วยท้องผูกเรื้อรังที่ไม่มีอาการผิดปกติ (อาการหรือลักษณะเตือน) มีโอกาสเป็นมะเร็งหรือเนื้องอกในลำไส้ไม่ต่างจากคนปกติในวัยเดียวกัน
ดังนั้น ผู้ป่วยท้องผูกเรื้อรังส่วนใหญ่ จึงไม่จำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อทำการตรวจเพิ่มเติม ถ้าอาการไม่รบกวนมาก ผู้ป่วยที่ควรไปพบแพทย์คือผู้ป่วยที่มีลักษณะและอาการเตือนดังต่อไปนี้ มีอาการซีดจากขาดธาตุเหล็ก ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด น้ำหนักลดผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 50 ปีและเริ่มมีอาการท้องผูก มีประวัติสมาชิกในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ท้องผูกจนมีอาการของลำไส้อุดตัน (ปวดท้องมาก อึดอัดแน่นท้อง คลื่นไส้อาเจียน) และท้องผูกที่รบกวนมากและรับประทานยาระบายแล้วไม่ได้ผล โดยถ้าผู้ป่วยมีอาการดังกล่าวนี้ แพทย์จะทำการตรวจเพื่อหาสาเหตุเพิ่มเติมของสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการท้องผูก ตามความเหมาะสมต่อไป