เขียนเมื่อ : วันพุธ ที่ 28 เดือน มิถุนายน พ.ศ.2560 | อ่านแล้ว : 1,399 ครั้ง

กินอย่างไรเมื่อเป็นโรคไตเรื้อรัง


เมื่อป่วยเป็นโรคไต ประสิทธิภาพการทำงานของไตจะลดลง ส่งผลให้ขับของเสียออกจากร่างกายได้ไม่น้อย ดังนั้นผู้ป่วยโรคไตต้องดูแลตัวเองให้ดีไม่แพ้ผู้ป่วยโรคอื่น ๆ โดยเฉพาะเรื่องการรับประทานอาหารที่ต้องใส่ใจให้มาก เพราะอาหารบางชนิดมีสารหรือแร่ธาตุบางอย่างในปริมาณที่สูงมากซึ่งก่อให้เกิดโทษกับผู้ป่วยโรคไต
เราลองมาดูกันว่า อาหารประเภทไหนที่ผู้ป่วยโรคไตควรทาน หรือควรระวังให้มาก เพื่อชะลอความเสื่อมของไต

1. อาหารประเภทโปรตีน
โปรตีนคือสารอาหารจำเป็นในการเสริมสร้างและซ่อมแซมกล้ามเนื้อในร่างกาย เมื่อเราทานโปรตีนเข้าไป ร่างกายจะเปลี่ยนโปรตีนเป็นกรดอะมิโนและไนโตรเจน ซึ่งส่วนที่ไม่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น ไนโตรเจน จะถูกขับออกมาในปัสสาวะตามปริมาณที่กินเข้าไป ดังนั้นถ้าเราทานโปรตีนมากก็จะมีของเสียผ่านไตมาก ทำให้ไตทำงานหนักมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ เราควรทานเนื้อสัตว์ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนสูงในปริมาณที่เหมาะสม ปริมาณโปรตีนที่แนะนำ คือ 0.6-0.8 กรัม ต่อน้ำหนักตัวที่เหมาะสม 1 กิโลกรัม หรือขึ้นอยู่กับระยะของโรค และควรเลือกรับประทานโปรตีนคุณภาพสูง ได้แก่ เนื้อปลา โดยเฉพาะปลาทะเลน้ำลึก เนื่องจากมีไขมันต่ำและยังมีกรดไขมันโอเมก้า 3 สูง ไข่ขาว เนื้อหมู เนื้อไก่ (ไม่ติดหนัง-มัน) นมไขมันต่ำ เป็นต้น แต่ควรหลีกเลี่ยงเครื่องในสัตว์ เนื้อสัตว์แปรรูป เนื้อสัตว์ที่มีไขมันสูง

2. นอกจากโปรตีนแล้วคนเป็นโรคไตเรื้อรังต้องระวังไม่กินอาหารที่มีโซเดียม โพแทสเซียมและฟอสฟอรัสสูง คนเป็นโรคไตเรื้อรังในระยะแรกที่ยังไม่มีปัญหาว่ามีโพแทสเซียม และ/หรือฟอสฟอรัสในเลือดสูงอาจไม่จำเป็นต้องควบคุมก็ได้ เพราะไตยังสามารถขับออกทางปัสสาวะได้ดีพอสมควร อาหารที่มีโพแทสเซียมสูงที่ควรระวัง ได้แก่

- ถั่วเมล็ดแห้ง โดยเฉพาะถั่วดำและถั่วปากอ้า

- ผักที่มีสีเขียวเข้ม สีเหลืองเข้ม เช่น หน่อไม้ฝรั่ง บล็อกโคลี่ ดอกกะหล่ำ ใบคะน้า ขึ้นฉ่าย มะเขือเทศ แครอต (ผักที่มีโพแทสเซียมไม่สูงมากและกินได้ เช่น แตงกวา น้ำเต้า บวบ ฟักเขียว มะเขือยาว ถั่วฝักยาว ผักกาด)

- ผลไม้ โดยเฉพาะผลไม้ที่มีสีเหลือง เช่น ส้ม กล้วย ทุเรียน มะม่วงสุก ขนุน มะขามหวาน และผลไม้แห้งทุกชนิด เช่น ลูกเกด ลูกพรุน
อาหารที่มีฟอสฟอรัสสูงที่ควรระวัง ได้แก่ เนื้อสัตว์ ไข่แดง นมสด เนยแข็ง เมล็ดพืช ถั่วต่างๆ เช่น ถั่วลิสง ถั่วแดง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ เป็นต้น

3. อาหารที่มีโซเดียมสูงที่ควรระวัง ได้แก่ อาหารที่มีรสเค็มจากการใช้เครื่องปรุงรสต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เกลือ น้ำปลา ซีอิ๊ว ซอสหอยนางรม น้ำบูดู ซุปก้อน ผงปรุงรส คนที่มีปัญหาเรื่องไต ต้องระวังไม่ใส่เครื่องปรุงรสต่างๆ มากในขณะประกอบอาหาร โดยทั่วไปเติมเกลือได้ครึ่งช้อนชาต่อวันหรือเติมน้ำปลา ซีอิ๊วรวมกันได้ไม่เกิน ๓ ช้อนชาต่อวัน และต้องไม่เติมเครื่องปรุงรสเหล่านี้เพิ่มในระหว่างการกินอาหาร รวมทั้งต้องหลีกเลี่ยงอาหารหมักดอง อาหารตากแห้ง อาหารว่างที่ออกรสเค็ม อาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก แฮม หมูยอ หมูหยอง อาหารสำเร็จรูป จำพวกโจ๊ก บะหมี่ วุ้นเส้น และขนมขบเคี้ยวต่างๆ ทุกชนิด