เขียนเมื่อ : วันพุธ ที่ 21 เดือน มิถุนายน พ.ศ.2560 | อ่านแล้ว : 805 ครั้ง

มะเร็งปอด โรคที่คร่าชีวิตผู้ชายอันดับหนึ่ง


มะเร็งปอด (Lung Cancer) คือ เซลล์ส่วนใดส่วนหนึ่งภายในปอดที่มีความผิดปกติ และเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นก้อนเนื้อร้ายจนอาจแพร่กระจายไปสู่ส่วนอื่นของร่างกาย
ในบทความนี้จะกล่าวถึงเพียงมะเร็งปอดที่เริ่มต้นจากเนื้อเยื่อภายในปอดเอง (Primary Lung Cancer) เนื่องจากมะเร็งปอดที่ตรวจพบมีหลายชนิด และเมื่อมีการแบ่งประเภทของมะเร็งปอดที่เกิดจากเนื้อเยื่อปอดเพียงอย่างเดียวโดยดูตามขนาดของเซลล์บริเวณที่เกิดมะเร็งจะพบได้บ่อยอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ มะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก (Non-small Cell Lung Cancer) พบอัตราการเกิดได้บ่อยถึง 80-85% และมะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (Small Cell Lung Cancer) พบได้ประมาณ 10%-15% อีกทั้งยังมีแนวโน้มในการแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว

อาการของมะเร็งปอด
- ไอเรื้อรังเป็นระยะเวลานาน
- ไอปนเลือด
- หายใจเหนื่อยหอบ หรือหายใจลำบากเป็นระยะเวลานาน
- เจ็บหน้าอก
- เบื่ออาหาร
- น้ำหนักลดลงโดยไม่มีสาเหตุ
- ปวดหรือเจ็บขณะหายใจหรือไอ

สาเหตุของมะเร็งปอด
การสูบบุหรี่ ถือเป็นสาเหตุหลักของมะเร็งชนิดนี้ถึง 85% ของสาเหตุการเกิดทั้งหมด เนื่องจากภายในบุหรี่ประกอบไปด้วยสารพิษที่เป็นอันตรายและยังมีสารก่อมะเร็งมากกว่า 60 ชนิด ซึ่งสามารถพัฒนาให้เกิดมะเร็งปอด รวมไปถึงมะเร็งชนิดอื่นอย่างมะเร็งในช่องปากและมะเร็งหลอดอาหารได้ในภายหลัง นอกจากนี้ยาสูบประเภทอื่น เช่น ยานัด ซิการ์ ยาเส้น กัญชาผสมบุหรี่ ก็ยังสามารถเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งปอดได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน สารก่อมะเร็งเหล่านี้เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะไปทำลายเนื้อเยื่อภายในปอดได้ทันที
นอกเหนือจากการสูบบุหรี่ ยังพบว่ามีสาเหตุอื่น ๆ ที่สามารถก่อให้เกิดมะเร็งปอดได้เช่นกัน ได้แก่

สูดดมควันบุหรี่จากคนรอบข้าง หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า ควันบุหรี่มือสอง ถึงแม้ไม่ได้สูบบุหรี่ แต่การได้รับควันบุหรี่จากผู้คนรอบข้างที่สูบก็สามารถเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดมะเร็งปอดได้ไม่แพ้กับการสูบบุหรี่โดยตรง เพราะสามารถรับสารพิษหรือสารก่อมะเร็งได้ด้วยวิธีการเดียวกัน มีผลงานวิจัยพบว่าผู้ที่อาศัยร่วมกับผู้ที่สูบบุหรี่มีโอกาสในการเป็นมะเร็งปอดได้ถึง 20-30% เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้อยู่กับผู้ที่สูบบุหรี่

ก๊าซเรดอน สารกัมมันตรังสีที่มีอยู่ทั่วไป อาจมาจากดิน หิน หรืออาจพบในอาคารบางแห่ง หากสูดดมเอาก๊าซชนิดเข้าไปมาก ๆ อาจส่งผลให้ปอดได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ

สารพิษและมลภาวะ สารเคมีและมลภาวะต่าง ๆ ที่ได้รับในแต่ละวันก็เพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งปอดได้สูงขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่ต้องประกอบอาชีพเกี่ยวข้องกับสารเคมีหรืออยู่ในภาคอุตสาหกรรมซึ่งทำให้ได้รับสารเหล่านี้เข้าไปเป็นประจำโดยไม่รู้ตัว ตัวอย่างสารเหล่านี้ เช่น สารหนู ถ่านหิน แร่ใยหิน เบริลเลียม แคดเมียม ถ่านโค้ก ซิลิกา นิกเกิล นอกจากนี้ การได้รับเอาควันเสียจากยานพาหนะปริมาณมากจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงขึ้นเป็น 50% งานวิจัยพบว่า ผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตที่มีก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ที่ผลิตจากรถยนต์หรือพาหนะอื่นมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดถึง 3 เท่า

ปอดมีการติดเชื้อ เนื้อเยื่อปอดที่มีการติดเชื้อหรือถูกทำลายจากโรคต่าง ๆ เช่น โรคหนังแข็ง (Scleroderma) หรือวัณโรค ที่เสี่ยงต่อการเกิดเนื้องอกในเนื้อเยื่อปอด ก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดได้