เขียนเมื่อ : วันเสาร์ ที่ 3 เดือน มิถุนายน พ.ศ.2560 | อ่านแล้ว : 858 ครั้ง

สายตายาวตามวัย ไม่ใช่โรค-ป้องกันไม่ได้


อาการมองใกล้ไม่ชัด แต่ในครั้งอาจจะมีอาการแสบตา เคืองตา ปวดตา ปวดศีรษะ เนื่องจากเมื่อมองไม่เห็นก็จะพยายามเพ่งมากขึ้น หรือจากเดิมที่เคยอ่าน เขียนหนังสือที่ระยะห่างจากตา 1 ฟุตแล้วชัด แต่ตอนนี้กลับไม่ชัด ต้องใช้วิธีเลื่อนหนังสือออกหรือบางคนอาจต้องหรี่ตาให้เล็กลง เพื่อช่วยให้อ่านหนังสือชัดขึ้น
ฟันธงได้เลยว่านั่นคือ "อาการสายตายาว" ยิ่งหากคุณมีอายุ 40 ปีขึ้นไปก็เป็น เรื่องปกติตามธรรมชาติที่จะต้องเผชิญกับภาวะนี้ แต่ยังคงมีหลากหลายความเข้าใจ ที่คลาดเคลื่อนในเรื่องสายตาด้วยเหตุนี้ ผู้เชี่ยวชาญจาก"จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน วิชั่น" จึงนำเสนอข้อเท็จจริงเพื่อที่จะสามารถแก้ไขปัญหาสายตาได้อย่างถูกต้อง

ความเข้าใจผิดที่ 1 : สายตายาวตามวัย ก็คือภาวะสายตายาวนั่นเอง
เรื่องของสายตายาวนั้น มีด้วยกัน 2 ประเภทหลัก ๆ อย่างแรก คือ สายตายาว ตั้งแต่กำเนิดจะเกิดขึ้นตั้งแต่กำเนิด อีกอย่างหนึ่ง คือ สายตายาวตามวัยซึ่งอาการสายตายาว 2 ประเภทนี้จะแตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยสายตายาวตั้งแต่กำเนิด เกิดจากขนาดของลูกตาที่มีขนาดเล็กเกินไป ทำให้จุดรวมแสงของภาพไม่ว่าวัตถุนั้นจะอยู่ใกล้หรือไกลไม่ไปโฟกัสบนจอประสาทตา จึงเป็นสาเหตุของการปวดตาและมองเห็น ไม่คมชัด แต่ว่าสายตายาวตามวัยจะเกิดขึ้นหลังจากอายุ 40 ปี เป็นผลจากการปรับโฟกัสของเลนส์ตาแย่ลง ทำให้มองวัตถุระยะใกล้ไม่ชัด ทำให้ต้องยืดแขนออก เพื่อมองให้ชัด เพราะฉะนั้นอย่าสับสนระหว่าง สายตายาวโดยกำเนิดและสายตายาวตามวัยเป็นอันขาด

ความเข้าใจผิดที่ 2 : สายตายาวตามวัยป้องกันได้
เมื่ออายุมากขึ้น จะมีการเปลี่ยนแปลงของดวงตาหลายอย่าง เช่น รูม่านตามีขนาดเล็กลง ปริมาณของน้ำตาลดลงและการเกิดปัญหาสายตายาว ตามวัยซึ่งสายตายาวตามวัยเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงของดวงตาที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เนื่องจากเลนส์แก้วตามีความยืดหยุ่นน้อยลง
ดังนั้น สายตายาวตามวัยจึงไม่ใช่โรค และในปัจจุบันยังไม่สามารถป้องกันได้ โดยจะเกิดขึ้นกับทุกคนไม่ว่าจะมีค่าสายตาสั้น สายตายาวหรือสายตาปกติมาก่อนอายุ 40 ปีก็ตาม แม้แต่คนที่ทานอาหารบำรุงสายตาเป็นประจำ ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงปัญหานี้ได้

ความเข้าใจผิดที่ 3 : ยิ่งแก้ปัญหา สายตายาวตามวัย ก็จะยิ่งทำให้สายตาแย่ลง
ความจริง คือ เมื่อใดก็ตามที่มีปัญหาสายตายาวตามวัยและไม่แก้ไข จะทำให้ดวงตาของคุณรู้สึกเมื่อยล้าและหากปล่อยให้ปัญหาสายตายาวเกิดขึ้นต่อไปโดยไม่แก้ไข จะยิ่งกระทบต่อการใช้ชีวิตที่ลำบากมากขึ้น เช่น อ่านตัวหนังสือขนาดเล็กได้ลำบาก, หรือเวลาอ่านหนังสือก็ต้องพยายามยืดแขนออก, มีปัญหาในการมองเห็นวัตถุระยะใกล้, ถ้ามีสายตาสั้นอยู่เดิม จะต้องถอดแว่นตาออกถึงจะมองใกล้ได้ชัดขึ้น
ทางที่ดีถ้ามีการแก้ไขที่ถูกต้องก็จะทำให้มองเห็นได้คมชัดเหมือนเดิม ทั้งยังไม่ต้องรู้สึกหงุดหงิดเพราะมองไม่ชัดเนื่องจากมีปัญหาค่าสายตาอีกต่อไป ที่สำคัญ คุณจะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่ในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน ท่องเที่ยวหรือการออกกำลังกายได้เหมือนตอนก่อนอายุ 40