เขียนเมื่อ : วันพฤหัสบดี ที่ 3 เดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565 | อ่านแล้ว : 441 ครั้ง

ไขข้อข้องใจ ชอบกินหวานแล้วจะเป็นเบาหวานจริงไหม


  “โรคเบาหวาน” เป็นภาวะที่ร่างกายมีความบกพร่องในการนำน้ำตาลเข้าสู่เซลล์ เพื่อใช้เป็นพลังงานในร่างกาย ซึ่งเกิดขึ้นจากภาวะขาดอินซูลิน หรือดื้ออินซูลิน โดยในภาวะปกติฮอร์โมนอินซูลินที่ถูกสร้างมาจากเซลล์ของตับอ่อน มีหน้าที่นำน้ำตาลเข้าสู่เซลล์ไปใช้เป็นพลังงาน เมื่อน้ำตาลเข้าสู่เซลล์ลดน้อยลง หรือไม่ได้ จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ โรคเบาหวานแบ่งเป็น 4 ชนิด ดังนี้

  1. เบาหวานชนิดที่ 1 (type 1 diabetes mellitus, T1DM) เกิดจากเซลล์ตับอ่อนถูกทำลายจากภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ขาดอินซูลิน มักพบในเด็ก

  2. เบาหวานชนิดที่ 2 (type 2 diabetes mellitus, T1DM) เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด ร้อยละ 95 ของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด เกิดจากภาวะดื้อต่ออินซูลิน และ/หรือภาวะขาดอินซูลิน มักพบในผู้ใหญ่ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นเบาหวานหลายคนร่วมกับที่มีน้ำหนักเกิน หรืออ้วนร่วมด้วย ซึ่งในบทความนี้จะกล่าวถึง “โรคเบาหวานชนิดที่ 2” เท่านั้น

  3. เบาหวานขณะตั้งครรภ์ (gestational diabetes mellitus, GDM) เป็นโรคเบาหวานที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ มักเกิดเมื่อไตรมาส 2-3 ของการตั้งครรภ์

  4. เบาหวานที่มีสาเหตุจำเพาะ (specific types of diabetes due to other causes) เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น โรคทางพันธุกรรม โรคของตับอ่อน โรคทางต่อมไร้ท่อ ยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์ เป็นต้น

  สาเหตุของโรค แบ่งออกเป็น 2 สาเหตุ คือ

  1. สาเหตุที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ มีดังนี้

- อายุ ที่เพิ่มมากขึ้น ผู้สูงอายุ ความสามารถของตับอ่อนในการสร้างอินซูลินลดลงไป
- พันธุกรรม มีส่วนอยู่บ้าง แต่เป็นเรื่องที่มีความซับซ้อน ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่ายีนตัวใดตัวหนึ่งเพียงตัวเดียวที่เป็นสาเหตุของโรคเบาหวานชนิดที่ 2

  2. สาเหตุที่เปลี่ยนแปลงได้ มีดังนี้

- ความอ้วน
- การไม่ออกกำลังกาย
- พฤติกรรมการกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ เช่น อาหารที่มีไขมันสูง อาหารประเภทน้ำตาลเชิงเดี่ยวสูง ซึ่งต้องย้ำว่าสาเหตุที่กล่าวมาในข้อที่ 2 ข้างต้น ล้วนเป็นสาเหตุที่คนสามารถปรับเปลี่ยนเพื่อลดความเสี่ยงของการเป็นเบาหวานได้

  ส่วนสาเหตุของเบาหวานชนิดที่ 2 นั้น ตั้งต้นเกิดจากภาวะดื้ออินซูลิน กล่าวคือ ร่างกายไม่สามารถนำกลูโคส หรือน้ำตาล เข้าเซลล์นำไปใช้เป็นพลังงานได้ตามปกติ ตับอ่อนต้องหลั่งอินซูลินจำนวนมากขึ้น เพื่อดึงน้ำตาลเข้าสู่เซลล์ ต่อมาในระยะยาวเมื่อเป็นเบาหวานนานขึ้น ความสามารถของตับอ่อนในการหลั่งอินซูลินลดลง เกิดภาวะขาดอินซูลินร่วมด้วย ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ส่วนหนึ่งจึงต้องได้รับการฉีดอินซูลิน เนื่องจากตับอ่อนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ตามที่ร่างกายต้องการนั่นเอง



ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : thairath