เขียนเมื่อ : วันพฤหัสบดี ที่ 4 เดือน พฤศจิกายน พ.ศ.2564 | อ่านแล้ว : 554 ครั้ง

ภาวะ AVF เสียงดังในหู สู่โรคทางสมอง


  อาการเสียงฟู่ที่ได้ยินในหู อาจเป็นอาการของโรคทางสมองอย่างหนึ่ง ที่เกิดจากภาวะความผิดปกติของหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำ (Dural arteriovenous fistulas: DAVF) หากมีอาการควรได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง

  นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์
ให้ข้อมูลว่า ภาวะ AVF หรือภาวะความผิดปกติของหลอดเลือดแดงกับโพรงหลอด เลือดดำบริเวณเยื่อหุ้มสมอง อาจส่งผลต่อการระบายเลือดกลับของสมองจะขึ้นกับตำแหน่งและความผิดปกติของโพรงหลอดเลือดดำ ภาวะนี้มีการแบ่งเป็น 2 ลักษณะตามการรบกวนการระบายเลือดกลับของสมอง ได้แก่ 1.ชนิดไม่รุนแรง 2.ชนิดรุนแรง จะเป็นชนิดที่รบกวนการระบายเลือดกลับของสมอง โดยจะส่งผลให้เกิดภาวะความดันในหลอดเลือดดำสมองสูง เนื่องจากไม่สามารถระบายเลือดออกได้ จึงทำให้เกิดภาวะสมองขาดเลือดและภาวะเลือดออกตามมาในที่สุด

  นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการแสดงของภาวะชนิดไม่รุนแรง จะเกิดขึ้นตามตำแหน่งของหลอดเลือดดำที่ถูกรบกวน เช่น ผู้ป่วยมีภาวะเสียงดังรบกวนในหูตามจังหวะชีพจร ซึ่งเกิดจากการรบกวนโพรงหลอดเลือดดำที่ฐานกะโหลกบริเวณหู อาการต่อมาที่พบได้บ่อย คือ เสียงฟู่ สัมผัสได้บริเวณต่างๆ รอบศีรษะ และภาวะน้ำคั่งในโพรงสมอง เป็นอีกหนึ่งภาวะที่สามารถพบได้ เกิดจากการดูดกลับของน้ำเลี้ยงสมองส่วนใหญ่ต้องผ่านโพรงหลอดเลือดดำ ภาวะชนิดรุนแรงอาการส่วนใหญ่จะเกิดจากภาวะความดันในหลอดเลือดดำสมองสูง ได้แก่ ความจำเสื่อม พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง เคลื่อนไหวผิดปกติ และแขนขาอ่อนแรง ซึ่งสาเหตุการเกิดโรคมักเกิดตามหลังภาวะโพรงหลอดเลือดดำในสมองอุดตัน เป็นภาวะที่พบมากในผู้ป่วยเพศหญิง อาจเกิดตามหลังอุบัติเหตุทางศีรษะและความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด แต่บางครั้งก็ไม่สามารถหาสาเหตุได้ชัดเจน

  การวินิจฉัยผู้ป่วยทำได้โดยแพทย์ส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบฉีดสี หรือหากต้องการข้อมูลที่ละเอียดมากขึ้น แพทย์อาจพิจารณาผู้ป่วยส่งตรวจเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรได้รับการดูแลเบื้องต้นจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาทโดยตรง เนื่องจากความซับซ้อนของสาเหตุการเกิดโรค จึงทำให้การป้องกันเป็นไปได้ยาก อย่างไรก็ตาม การดูแลและตรวจสุขภาพเป็นประจำ รวมถึงการรักษาโรคประจำตัว เช่น ความดันสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง และหลีกเลี่ยงการใช้สารเสพติด บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สามารถช่วยลดความเสี่ยงการเกิดภาวะโรคนี้ได้ ปัจจุบันสถาบันประสาทวิทยามีการพัฒนา การรักษาโดยวิธีการใช้รังสีร่วมรักษา และการรักษาผ่านทางสายสวนหลอดเลือด โดย ไม่ต้องผ่าตัดเปิดสมอง ทำให้การดูแลผู้ป่วยมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น



ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : thaihealth