เขียนเมื่อ : วันพฤหัสบดี ที่ 25 เดือน พฤษภาคม พ.ศ.2560 | อ่านแล้ว : 917 ครั้ง

สาเหตุของความดันโลหิตสูง


ปัจจุบันนี้เกือบทุกคนที่เป็นผู้ใหญ่คงคุ้นเคยกับโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งประกอบด้วยการมีความดันโลหิตที่มีค่าสูงเกินปกติและมีผลกระทบต่ออวัยวะต่าง ๆ โดยเฉพาะหัวใจและหลอดเลือด ความผิดปกติที่เกิดขึ้นเป็นผลของการเปลี่ยนแปลงทั้งทางฟิสิกส์คือความดันหรือแรงดันในหลอดเลือดสูงขึ้น และการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีคือการที่เซลล์ของผนังหลอดเลือดมีความผิดปกติ เกิดการเสื่อมและมีการอักเสบเรื้อรัง ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดไขมันจับผนังหลอดเลือด และมีการดื้ออินซูลิน ทำให้เกิดโรคเบาหวานหรือการควบคุมเบาหวานยากขึ้น เกิดภาวะแทรกซ้อนง่ายขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจยากและถูกมองข้ามไป แพทย์ส่วนใหญ่จึงให้ความสนใจเพียงแค่ค่าความดันโลหิตที่วัดได้ซึ่งไม่ถูกต้องนัก

นอกจากการมองข้ามผลกระทบทางชีวเคมี ทั้งแพทย์และผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังละเลยการสืบค้นหาสาเหตุของความดันโลหิตสูง ถึงแม้ว่าผู้ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงเกือบทั้งหมดจะไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด โดยมากจะมีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น อายุมาก กรรมพันธุ์ การสูบบุหรี่ การบริโภคเกลือเป็นประจำ เบาหวาน ไขมันในเลือดสูงและความเครียด แต่มีผู้ป่วยบางรายที่มีสาเหตุและบางอย่างก็สามารถแก้ไขได้ ทำให้ไม่ต้องใช้ยาควบคุมความันโลหิตไปตลอด ซึ่งสาเหตุต่าง ๆ มีดังนี้

โรคไต ได้แก่ ไตพิการเรื้อรังหรือหลอดเลือดแดงของไตตีบตัน ซึ่งการตรวจร่างกายจะต้องตรวจหาร่องรอยของไตพิการ และต้องฟังที่ท้องและเอวว่ามีเสียงฟู่ของหลอดเลือดตีบหรือไม่ ต้องตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ และตรวจไตด้วยวิธีพิเศษ เช่น อัลตราซาวนด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือตรวจด้วยสนามแม่เหล็ก

โรคของต่อมไร่ท่อ โดยเฉพาะต่อมหมวกไต ซึ่งจะผลิตฮอร์โมนบางอย่างทำให้เกิดความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยมักจะมีความดันโลหิตสูงมากเป็นพัก ๆ หรือมีความดันโลหิตสูงร่วมกับภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนกำลังเป็น ๆ หาย ๆ การตรวจวินิจฉัยคือการตรวจฮอร์โมนและการใช้อัลตราซาวนด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือการตรวจด้วยสนามแม่เหล็ก

โรคหลอดเลือดแดงใหญ่ในอกตีบแคบมาแต่กำเนิดหรือหลอดเลือดขนาดใหญ่อักเสบเรื้อรังจนตีบตัน ตรวจร่างกายพบชีพจรแขนขาแรงไม่เท่ากัน หรือชีพจรบางแห่งเบาผิดปกติ การวัดความดันโลหิตจึงต้องวัดเทียบกันทั้งแขนขวาแขนซ้ายและแขนกับขา
สาเหตุจากยา ได้แก่ ยากลุ่มสตีรอยด์ ยาต้านการอักเสบ (เช่น ยาแก้ปวดข้อ ข้ออักเสบ) ยาที่มีฤทธิ์หดหลอดเลือด (เช่น ยาแก้คัดจมูก และยาที่กระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติบางอย่าง) จึงต้องตรวจสอบการใช้ยาของผู้ป่วยด้วยแม้แต่ยาสมุนไพรบางอย่างก็มีสารสตีรอยด์หรือมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุได้เช่นกัน (เช่นชะเอม)

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : นิตยสารหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 397