เขียนเมื่อ : วันพฤหัสบดี ที่ 30 เดือน กันยายน พ.ศ.2564 | อ่านแล้ว : 347 ครั้ง

รณรงค์วันหัวใจโลก ใช้ใจเชื่อมต่อทุกคน ทุกที่ ดูแลรักษา ลดปัจจัยเสี่ยง


  กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมรณรงค์เนื่องในวันหัวใจโลก วันที่ 29 ก.ย. 2564 ตามคำขวัญ สหพันธ์หัวใจโลก (The World Heart Federation) คือ USE HEART TO CONNECT: ใช้ใจเชื่อมต่อ แนะผู้ป่วยโรคหัวใจใช้เทคโนโลยีในการดูแลรักษา ลดปัจจัยเสี่ยง พบเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของโลกและประเทศไทยซึ่งมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด มากถึง 6 หมื่นรายเฉลี่ยชั่วโมงละ 7 ราย แนะผู้ป่วยป้องกันตนเองและเร่งเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19

  นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค
เปิดเผยว่า วันที่ 29 กันยายน ทุกปี เป็นวันหัวใจโลก (World Heart Day) โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทยและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกกลุ่มวัย สาเหตุเกิดจากหลอดเลือดไปเลี้ยงที่หัวใจตีบตัน ขาดความยืดหยุ่น เนื่องจากการสะสมของไขมัน โปรตีน ที่บริเวณผนังด้านใน ของหลอดเลือด ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ คือ อายุ เพศ ประวัติครอบครัว ระดับความดันโลหิต ระดับน้ำตาลในเลือด ระดับไขมันในเลือด ภาวะอ้วน โดยโรคนี้มักเป็นโรคแทรกซ้อนในผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูงความเสี่ยงจะสูงขึ้นเมื่อผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดหรือระดับ ความดันโลหิตได้ตามเป้าหมายการรักษาของแพทย์

  นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อไปว่า เพื่อกระตุ้นเตือนให้ประชาชนทั่วโลกตระหนักถึงโรคหัวใจและหลอดเลือดตามคำขวัญรณรงค์วันหัวใจโลก คือ ใช้ใจเชื่อมต่อทุกคน ทุกที่ แนะนำให้ใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจ และหลอดเลือด 3 ประการ คือ

1.ใช้ใจสร้างความเท่าเทียม (EQUITY)
2.ใช้ใจในการป้องกัน (PREVENTION)
3.ใช้ใจร่วมกับสังคมและชุมชน (COMMUNITY) กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการพัฒนาขีดความสามารถ ในการดูแลรักษาผู้ป่วยให้เข้าถึงทุกที่ ทุกเวลาอย่างรวดเร็ว

  ประการแรก สร้างความเท่าเทียม(EQUITY) ด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศให้การป้องกัน วินิจฉัย ดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจ ในทุกกลุ่มแม้อยู่ในพื้นที่ห่างไกล

  ประการที่สอง ใช้ใจในการป้องกัน (PREVENTION) โดยการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดอาหารหวาน มัน เค็ม ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ใช้แอปพลิเคชันสุขภาพต่าง ๆ เช่น อสม.ออนไลน์ คัดกรองโรคไม่ติดต่อออนไลน์ ใช้ Smart Watch สร้างแรงจูงใจในการดูแลสุขภาพและกระตุ้นให้ปฏิบัติตนอย่างสม่ำเสมอผ่าน Mobile Application

  ประการที่สาม ใช้ใจร่วมกับสังคมและชุมชน (COMMUNITY) ใช้เทคโนโลยีเชื่อมต่อแพทย์ ผู้ป่วย ครอบครัว ญาติ สังคมและชุมชน ผ่านโครงการ 3 หมอ หมอครอบครัว หมอสาธารณสุข หมอประจำบ้าน เพื่อครอบคลุมการดูแลรักษาอย่างทั่วถึง ลดปัญหาการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด 19 ทำให้ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดที่ไม่สามารถมาพบแพทย์ตามนัดหมาย ยังสามารถรับบริการทางการแพทย์ผ่านเทคโนโลยีช่องทางออนไลน์ไม่ว่าจะเป็น Website, Telemedicine, Line Chat รวมถึงการลงทะเบียนเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ด้วยแอปพลิเคชันหมอพร้อม

  ทางด้านนายแพทย์กฤษฎา หาญบรรเจิด ผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กล่าวว่า กรมควบคุมโรค ได้บูรณาการพัฒนาคลินิกโรคไม่ติดต่อของสถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกระดับทั่วประเทศที่มีจำนวน 898 แห่งร่วมกับกรมอนามัย กรมสุขภาพจิต กรมการแพทย์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สามารถดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อทุกพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพควบคู่ทั้งทางกายและจิตใจเชิญชวนประชาชนเข้ารับการตรวจ คัดกรองเพื่อให้รู้ปัญหาสุขภาพโดยเร็ว

  โรคหัวใจเป็น 1 ใน 7 โรคไม่ติดต่อ หากเกิดการติดเชื้อโควิด-19 จะทำให้หัวใจเต้นเร็วจนเสี่ยงเกิดเยื่อบุหลอดเลือดอักเสบ หรือมีโอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตันสูงขึ้นจากระดับออกซิเจนในเลือดที่ลดลง ถ้าติดเชื้ออย่างรุนแรงทำให้การทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจแย่ลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีอาการหัวใจวายหรือหัวใจล้มเหลวได้และอาการที่รุนแรงจำเป็นต้องเข้ารักษาในหอผู้ป่วยวิกฤตต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ มีระยะเวลานอนโรงพยาบาลมากขึ้น มีโอกาสเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นถึง 20%

  ดังนั้น ผู้ป่วยควรระมัดระวังป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง รับประทานยาตามแพทย์สั่ง ออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ เน้นควบคุมอาการให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ลดปัจจัยเสี่ยง ปรับลดพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน เลิกสูบบุหรี่ หรือเลี่ยงการสูดดมควันบุหรี่และลด ละเลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดและสังเกตอาการผิดปกติ เช่น หายใจติดขัด แน่นหน้าอก หรือมีอาการเต้นของหัวใจผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์ และที่สำคัญควรเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อลดความรุนแรงจากการติดเชื้อ

การเตรียมความพร้อมของกลุ่มผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด คือ

1.ให้แพทย์ประเมินความพร้อมของร่างกาย ก่อนได้รับการฉีดวัคซีน
2.ควรรับการฉีดวัคซีนในสถานพยาบาลที่มีความพร้อมในการสังเกตอาการหรือภาวะไม่พึงประสงค์ภายหลังการฉีดวัคซีน
3.ภายหลังการฉีดวัคซีน 7 วัน หากพบอาการไม่พึงประสงค์ เช่น แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก เหนื่อย หรือใจสั่น ควรรีบพบแพทย์

สามารถขอรับคำปรึกษาเพิ่มเติมทางสายด่วน 1422 กรมควบคุมโรค



ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : thaihealth