เขียนเมื่อ : วันศุกร์ ที่ 17 เดือน เมษายน พ.ศ.2563 | อ่านแล้ว : 4,078 ครั้ง

อุณหภูมิปกติของร่างกายอยู่ที่เท่าไร พร้อมวิธีวัดไข้ให้คลาดเคลื่อนน้อยที่สุด


โดยปกติแล้วอุณหภูมิของร่างกายมนุษย์จะค่อนข้างคงที่ ไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง แม้อุณหภูมิภายนอกจะเปลี่ยนแปลงก็ตาม เพราะมนุษย์เรามีกลไกการรักษาสมดุลในร่างกาย กล่าวคือ หากเจออากาศร้อน ร่างกายจะขับเหงื่อ หรือกระตุ้นให้รู้สึกหิวน้ำ หรือหากเจอสภาพอากาศที่เย็น ขนจะลุก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็คือกลไกที่ร่างกายพยายามจะรักษาสมดุลในตัวเองเอาไว้ เพื่อให้อุณหภูมิในร่างกายของเราอยู่ในเกณฑ์ปกติ ซึ่งก็คือประมาณ 36.2-37.5 องศาเซลเซียส

อุณหภูมิเท่านี้ มีไข้แน่
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา (CDC) ให้ข้อมูลว่า เมื่อร่างกายมีอุณหภูมิประมาณ 38 องศาเซลเซียส ร่วมกับมีอาการตัวร้อนที่สัมผัสได้ ซึม หน้าแดง ตัวแดง หรือมีอาการผิดปกติอื่นๆ ที่สำคัญวัดไข้ภายใน 48 ชั่วโมงก็ยังมีอุณหภูมิร่างกายที่สูงกว่าปกติ ก็จัดว่ามีอาการไข้แล้ว

แต่ทั้งนี้เกณฑ์การวัดไข้ทั่วไปก็มีหลายระดับ อย่างที่เราเคยได้ยินกันว่า ไข้ต่ำ ไข้สูงนั่นเอง โดยระดับของการมีไข้ มีดังนี้
- อุณหภูมิ 37.6-38.3 องศาเซลเซียส คือมีไข้ต่ำ
- อุณหภูมิ 38.4-39.4 องศาเซลเซียส คือมีไข้ปานกลาง
- อุณหภูมิ 39.5-40.5 องศาเซลเซียส คือมีไข้สูง
- อุณหภูมิ 40.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป คือมีไข้สูงมาก
หากร่างกายมีอุณหภูมิสูงหรือต่ำกว่าระดับปกติ ก็ถือว่าร่างกายอาจมีภาวะผิดปกติอยู่ก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับบริเวณที่วัดอุณหภูมิด้วย หากวัดอุณหภูมิทางปาก รักแร้ หู ได้เกิน 37.5 องศาเซลเซียส จะถือว่ามีไข้ แต่หากวัดอุณหภูมิทางทวารหนัก จะต้องเกิน 38 องศาเซลเซียส จึงบอกได้ว่าเป็นไข้

วิธีวัดไข้ที่ถูกต้อง เราสามารถวัดอุณหภูมิของร่างกายได้หลากหลายรูปแบบ โดยอุปกรณ์วัดไข้ที่นิยมใช้ในทุกวันนี้ ได้แก่

1.ปรอทแก้ว
ปรอทวัดไข้แบบธรรมดาที่หาซื้อได้ง่าย ราคาถูก และสามารถใช้วัดไข้ได้หลายส่วนในร่างกาย โดยวิธีวัดไข้ที่ถูกต้องสำหรับการใช้ปรอทแก้ว มีดังนี้
- ควรทำความสะอาดปรอทแก้วด้วยแอลกอฮอล์ก่อนใช้ทุกครั้ง
- สะบัดปรอทแก้วเบา ๆ และเช็กดูว่าอุณหภูมิของปรอทแก้วต่ำกว่า 35 องศาเซลเซียส

วัดทางปาก (อมใต้ลิ้น) ให้คาปรอทไว้ประมาณ 2-3 นาที การวัดไข้ใต้ลิ้นจะให้ค่าที่แม่นยำกว่าส่วนอื่น ๆ

วัดทางรักแร้ ให้คาปรอทไว้ประมาณ 5 นาที และบวกเพิ่มจากการอ่านค่า 0.5 องศาเซลเซียส เผื่อกรณีมีเหงื่อออก เพิ่งอาบน้ำเสร็จ ใต้วงแขนมีความชื้นจากน้ำหรือเหงื่อ ผลอาจคลาดเคลื่อนได้

วัดทางทวารหนัก ให้คาปรอทไว้ประมาณ 1-2 นาที กรณีนี้มักจะใช้วัดไข้ในเด็กแรกเกิด หรือเด็กเล็กที่อาจจะไม่ยอมอมปรอท หรือดิ้นจนปรอทใต้รักแร้ไม่สามารถวัดอุณหภูมิในร่างกายได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม การวัดไข้ด้วยปรอทแก้วก็อาจมีข้อเสียอยู่บ้าง เช่น ปรอทแก้วแตกหักง่าย และใช้ยากในเด็กเล็ก ๆ คนที่อาจมีอาการชัก ที่สำคัญต้องอ่านค่าจากขีดในปรอทเอง ซึ่งอาจมีการคลาดเคลื่อนจากความไม่ชำนาญตรงนี้ได้

2.ปรอทวัดไข้ดิจิทัล
ลักษณะคล้ายปรอทแก้ว แต่ปรอทวัดไข้แบบดิจิทัลจะมีหน้าจอแสดงค่าอุณหภูมิให้เห็นเป็นตัวเลขดิจิทัล ไม่ต้องอ่านค่าเอง อีกทั้งยังมีเสียงแจ้งเตือนเมื่อวัดอุณหภูมิร่างกายได้สำเร็จ ความแม่นยำให้การวัดไข้ด้วยปรอทดิจิทัลจึงมีมากกว่าปรอทแก้ว โดยวิธีใช้ปรอทดิจิทัลวัดไข้ก็มีขั้นตอน ดังนี้
- ควรทำความสะอาดปรอทด้วยแอลกอฮอล์ก่อนใช้ทุกครั้ง
- ตรวจสอบให้แน่ใจว่ารีเซตปรอทให้พร้อมวัดไข้แล้ว ไม่มีค่าอุณหภูมิค้างอยู่ในตัวปรอท

วัดทางปาก (อมใต้ลิ้น)ให้ปลายปรอทอยู่ใต้ลิ้น จากนั้นรอเสียงสัญญาณดัง จึงเอาออกมาอ่านค่า ซึ่งการวัดไข้ใต้ลิ้นจะให้ค่าที่แม่นยำกว่าส่วนอื่น

วัดทางรักแร้ให้เสียบปรอทที่รักแร้ รอจนเสียงสัญญาณดังขึ้น และบวกเพิ่มจากการอ่านค่า 0.5 องศาเซลเซียส เผื่อกรณีมีเหงื่อออก เพิ่งอาบน้ำเสร็จ ใต้วงแขนมีความชื้นจากน้ำหรือเหงื่อ ผลอาจคลาดเคลื่อนได้

วัดทางทวารหนักให้เสียบปลายปรอทที่ทวารหนัก โดยควรใช้ความระมัดระวัง ยิ่งหากใช้วัดไข้ในเด็กแรกเกิด หรือเด็กเล็ก เพราะอาจเกิดการบาดเจ็บได้


สำหรับปรอทวัดไข้แบบดิจิทัลก็มีข้อเสียอยู่บ้าง คืออาจพังง่าย หากตกพื้น หรือโดนน้ำ ดังนั้นการทำความสะอาดควรเช็ดด้วยแอลกอฮอล์เฉพาะที่ปลายปรอทที่ใช้วัดไข้เท่านั้น

3.เครื่องวัดอุณหภูมิแบบอินฟราเรด
เครื่องวัดอุณหภูมิที่นิยมใช้ในโรงพยาบาล โดยสามารถวัดไข้ทางหู หรือหน้าผากก็ได้ ให้ค่าที่ค่อนข้างแม่นยำ วัดไข้ได้เร็ว แต่ก็มีราคาค่อนข้างแพงกว่าปรอทวัดไข้ 2 แบบข้างบน ส่วนวิธีวัดไข้ด้วยอุปกรณ์นี้ก็ทำได้ง่าย

กรณีวัดไข้ทางหูให้ใส่เครื่องเข้าไปในรูหู แล้วทำการดึงใบหูเพื่อให้เครื่องวัดอุณหภูมิอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม โดยควรวัดซ้ำ 2-3 ครั้งเพื่อหาค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิ

กรณีวัดไข้ทางหน้าผากเพียงหันปลายที่วัดไข้ไปทางหน้าผาก จากนั้นกดปุ่มวัดอุณหภูมิ แล้วอ่านค่าที่แสดงบนหน้าจอ


ทั้งนี้การดูแลเครื่องวัดอุณหภูมิดิจิทัลอาจมีความยุ่งยากกว่าปรอทแก้วและปรอทแบบดิจิทัลอยู่บ้าง และควรใช้เครื่องวัดอย่างระมัดระวัง เพื่อป้องกันการเสียหายจนใช้งานไม่ได้


ข้อควรระวังในการวัดอุณหภูมิ การวัดไข้ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้การวัดอุณหภูมิในร่างกายคลาดเคลื่อนน้อยที่สุด ควรปฏิบัติ ดังนี้
- ไม่ควรวัดไข้หลังจากทำกิจกรรมหนัก ๆ ที่ทำให้ร่างกายรู้สึกเหนื่อย เช่น การวิ่ง เพราะในขณะนั้นร่างกายจะมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ โดยถ้าจะวัดไข้ให้วัดหลังจากเสร็จกิจกรรม 1 ชั่วโมง
- หากวัดอุณหภูมิด้วยปรอทที่ปาก ไม่ควรดื่มน้ำเย็นหรือของร้อน รวมถึงอาหารใด ๆ ก่อนวัดอุณหภูมิ 30 นาที เพราะค่าที่วัดได้อาจคลาดเคลื่อน
- ไม่ควรวัดอุณหภูมิทันทีหลังจากสูบบุหรี่
นอกจากนี้การวัดอุณหภูมิร่างกายควรคำนึงถึงความสะอาดของอุปกรณ์ที่ใช้วัดไข้ด้วยนะคะ โดยควรอ่านวิธีทำความสะอาดและการใช้งานของอุปกรณ์วัดไข้แต่ละแบบให้ดี และทำความสะอาดอุปกรณ์วัดไข้ทั้งก่อนและหลังใช้ ด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์ ตามวิธีที่เหมาะสมกับอุปกรณ์วัดอุณหภูมิร่างกายแต่ละแบบ



ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ : kapook