เขียนเมื่อ : วันพุธ ที่ 26 เดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 | อ่านแล้ว : 788 ครั้ง

10 สถานที่เสี่ยงควรหลีกเลี่ยง ช่วง “โควิด-19” ระบาด


ในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัส “โควิด-19” (COVID-19) ระบาด การหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนอยู่รวมกันมาก ๆ จะช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อลงได้ เพราะสถานที่ที่มีคนรวมกันอยู่มาก ๆ จะเป็นมีความเสี่ยงสูงที่จะมีการแพร่กระจายเชื้อไวรัสจากคนสู่คนได้ง่ายขึ้น การระมัดระวังความสะอาดหลังไอ จาม เอาละอองน้ำลายออกมาฟุ้งกระจายในอากาศก็ควบคุมได้ยากเช่นกัน


10 สถานที่เสี่ยงควรหลีกเลี่ยง ช่วง “โควิด-19” ระบาด


 1. สถานที่ราชการ และสถานที่ทำงาน

เป็นสถานที่ที่มีการติดเชื้อกันได้ง่ายเพราะมีคนเยอะ และต้องใช้เวลาในสถานที่นั้นเป็นเวลานาน ไม่สามารถหลีกเลี่ยงที่จะไม่ไปได้ แต่สามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้โดย ทำความสะอาดบริเวณที่สัมผัสบ่อย ๆ อย่างสม่ำเสมอ เช่น โต๊ะทำงาน คอมพิวเตอร์ เมาส์ คีย์บอร์ด อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำงาน ที่จับประตู ห้องสุขา เป็นต้น

 2. รถแท็กซี่ รถตู้โดยสาร รถจักรยานยนต์รับจ้าง

ควรสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ขึ้นรถ รวมถึงคนขับรถด้วย ควรล้างมือหรือใช้เจลล้างมือหลังจากสัมผัสเงิน จับที่เปิดประตู เบาะนั่ง คนขับรถก็ควรทำความสะอาดหลังมีการให้บริการอยู่เรื่อย ๆ ตลอดวัน เน้นบริเวณพื้นผิวที่ผู้โดยสารสัมผัสบ่อย ๆ เช่น ที่เปิดประตู เบาะนั่ง กระจก ที่กดกระจก พนักพิงศีรษะ เป็นต้น

 3. เรือโดยสาร

สำหรับผู้ให้บริการควรนำแอลกอฮอล์ หรือเจลล้างมือมาวางไว้ในพื้นที่ส่วนกลาง เช่น ห้องจำหน่ายตั๋ว และหมั่นทำความสะอาดราวจับ เก้าอี้นั่งในเรือ ที่เท้าแขน ราวบันได ท่าเทียบเรือ เป็นต้น

 4. MRT BTS Airport Rail Link และรถไฟ

ทำความสะอาดหลังการให้บริการ เน้นบริเวณที่ผู้โดยสารสัมผัสบ่อย ๆ เช่น บริเวณที่นั่ง ที่จับบริเวณเหนือศีรษะผู้โดยสาร ส่วนผู้โดยสารควรใส่หน้ากากอนามัย ยังคงต้องจับเสาและที่จับเหนือศีรษะระหว่างเดินทางอยู่เพราะอาจเกิดอันตรายได้ แต่ไม่ควรหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาใช้งานระหว่างโดยสาร เพราะเชื้อไวรัสสามารถติดมือจากที่จับมาที่หน้าจอโทรศัพท์ได้

 5. ห้างสรรพสินค้า โรงแรม ฟิตเนส

ผู้ประกอบการควรนำแอลกอฮอล์ หรือเจลล้างมือมาวางไว้บริเวณประตูทางเข้า-ออก บริเวณหน้าลิฟท์ และหมั่นทำความสะอาดที่จับประตู และห้องสุขาด้วย

 6. ร้านอาหาร

พนักงานควรหมั่นเช็ดทำความสะอาดโต๊ะอาหาร และเก้าอี้ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคอย่างสม่ำเสมอ พนักงานไม่ควรใช้มือเปล่าจับกระดาษทิชชู่ที่ลูกค้าใช้แล้วบนโต๊ะ ควรใช้อุปกรณ์อื่นในการช่วยหยิบ หรือสวมถุงมือก่อนหยิบแล้วถอดถุงมือทิ้ง ลูกค้าก็ควรลดการสัมผัสกับสิ่งของต่าง ๆ บนโต๊ะให้ได้มากที่สุด

 7. โรงพยาบาล

เจ้าหน้าที่ควรนำแอลกอฮอล์ หรือเจลล้างมือวางไว้ในบริเวณที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก หมั่นทำความสะอาดที่นั่ง ที่จับประตู ห้องสุขา เป็นต้น ผู้ป่วยหรือคนที่มาเยี่ยมไข้ผู้ป่วยที่โรงพยาบาลก็ควรใช้แอลกอฮอล์ และเจลล้างมือเรื่อย ๆ ระหว่างอยู่ในโรงพยาบาล

 8. ห้องน้ำสาธารณะ

เจ้าหน้าที่ควรทำความสะอาดที่จับสายฉีดชำระ พื้นห้องส้วม ที่รองนั่งโถส้วม ที่กดโถส้วม โถปัสสาวะ ที่เปิดก๊อกอ่างล้างมือ และกลอนประตู ลูกบิดประตูอย่างสม่ำเสมอ ผู้ใช้บริการควรลดการสัมผัสกับสิ่งเหล่านี้ให้ได้มากที่สุด และล้างมือฟอกสบู่ก่อนออกจากห้องน้ำทุกครั้ง

 9. ปั้มน้ำมัน

หมั่นทำความสะอาดห้องสุขา ซึ่งมีผู้ใช้บริการจำนวนมาก เน้นที่จับสายฉีดชำระ บริเวณพื้นห้องสุขา ที่รองนั่งโถส้วม ที่กดโถส้วม โถปัสสาวะ ที่เปิดก๊อกอ่างล้างมือ และกลอนประตู ลูกบิดประตูตลอดทั้งวัน ผู้ใช้บริการก็ควรลดการสัมผัสสิ่งเหล่านี้ให้ได้มากที่สุด และล้างมือฟอกสบู่ก่อนออกจากห้องน้ำทุกครั้ง

 10. สถานีขนส่งผู้โดยสาร และสนามบิน

เจ้าหน้าที่ควรนำแอลกอฮอล์ หรือเจลล้างมือมาวางไว้บริเวณประตูทางเข้า-ออก หมั่นทำความสะอาดที่จับประตูห้องสุขาตลอดทั้งวัน ผู้ที่อยู่ในสถานี และสนามบินก็ควรสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือบ่อย ๆ ลดการใช้มือตัวเองสัมผัสกับใบหน้า และส่วนต่าง ๆ ของร่างกายระหว่างวัน ล้างมือฟอกสบู่หรือด้วยแอลกอฮอล์ เจลล้างมือบ่อย ๆ เมื่อต้องหยิบจับสิ่งของต่าง ๆ ในสนามบิน

ขอบคุณ
ข้อมูล : sanook,กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
ภาพ : posttoday