เขียนเมื่อ : วันจันทร์ ที่ 24 เดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 | อ่านแล้ว : 824 ครั้ง

บทเรียนที่โลกได้จาก ‘ผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายที่ 31’ ของเกาหลีใต้


ท่ามกลางกระแสการระบาดของเชื้อ COVID-19 ที่ยังแผ่ปกคลุมหลายประเทศ โดยเฉพาะในเอเชียล่าสุด ข่าวที่มาแรงและอยู่ในความสนใจของผู้คนที่สุดหนีไม่พ้นสถานการณ์ ‘ผู้ติดเชื้อ COVID-19’ ในประเทศเกาหลีใต้ ที่เพียงแค่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ วันเดียว ตัวเลขผู้ติดเชื้อทะยานขึ้นไปสูงถึง 142 ราย ส่งผลให้ในตอนนี้ ยอดผู้ติดเชื้อสะสมในเกาหลีใต้อยู่ที่ 556 ราย รั้งอันดับ 2 รองจากประเทศญี่ปุ่น ที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด นอกจากจีนแผ่นดินใหญ่

นับเป็นปรากฏการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่เร็วและแรง จนทำให้คนทั้งโลกใจหายใจคว่ำก็ว่าได้

หลายแหล่งข่าวนำเสนอเนื้อหาข่าวเรื่องนี้ โดยพุ่งเป้าไปว่าศูนย์กลางการแพร่เชื้อในครั้งนี้อยู่ที่ผู้หญิงเพียงคนเดียว นั่นคือคุณป้าผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายที่ 31 อายุ 61 ปี ท่านหนึ่ง ที่อาศัยในเมือง แทกู ของประเทศเกาหลีใต้ และเมื่อสืบสาวไปที่ต้นสายปลายเหตุของการติดเชื้อ ก็ยิ่งสร้างความตื่นตระหนกและกระตุ้นต่อมความอยากรู้ให้ผู้คน

เพราะได้ความว่า คุณป้าท่านนี้เป็นสมาชิก ลัทธิชินชอนจี และมีประวัติเดินทางไปร่วมพิธีในโบสถ์แห่งหนึ่งในมืองแทกู และที่นี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของมหากาพย์แห่งวิกฤตครั้งนี้

ความเชื่อในการทำพิธีกรรม ต้นเหตุก่อเกิดการแพร่เชื้อ COVID-19 ในเกาหลีใต้

เมื่อได้รับข้อมูลดังที่เกริ่นมานี้ ทำให้หลายคนพุ่งเป้าไปที่ ลัทธิชินชอนจี ที่คุณป้าชาวเกาหลีใต้นับถือนี้ว่าคือลัทธิอะไร และกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของการแพร่เชื้อ COVID-19 ที่ลุกลาม รุนแรงไปทั่วประเทศเกาหลีใต้ได้อย่างไร

จริงๆแล้ว ลัทธิชินชอนจี เป็นลัทธิความเชื่อหนึ่งในเกาหลีใต้ โดยเจ้าลัทธิเป็นชาวเกาหลีใต้ นาม อีมันฮี เขาตั้งตนเป็นเมสสิยาห์ ผู้รับไม้ต่อและหน้าที่จากพระเยซูคริสต์ ที่จะพาสาวก 144,000 คน เดินทางไปสวรรค์เมื่อวันพิพากษามาถึง

แล้วการเข้าร่วมพิธีของลัทธิที่เธอเชื่อถือและเคารพ เกี่ยวอะไรและทำให้เธอติดเชื้อ COVID-19 ได้อย่างไร? นี่คือคำถามต่อไปที่เชื่อว่าหลายคนอยากรู้

คำเฉลยอยู่ที่ โดยปกติแล้ว ลัทธินี้จะมีการจัดกิจกรรมให้เหล่าสาวกหรือสมาชิกมาร่วมสวดอ้อนวอนพระเยซูคริสต์กันเป็นประจำอยู่แล้ว ซึ่งตั้งแต่ตอนต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา เมื่อทางโบสถ์ได้รู้ข่าวการระบาดของ ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ที่มีศูนย์กลางการระบาดอยู่ที่ เมืองอู่ฮั่น เมืองเอกของมณฑลหูเป่ย สาธารณรัฐประชาชนจีน แล้ว ก็ใช่ว่าทางลัทธินี้จะนิ่งนอนใจ


เพราะรู้ดีว่ากิจกรรมการสวดมนต์ของทางลัทธินั้น ต้องมีการมารวมตัวกันของคนจำนวนมาก โดยตามรายงานข่าว แค่ในเมืองแทกูเอง มีผู้คนที่นับถือลัทธินี้อยู่ถึง 8,000 คน ที่จะมาทำพิธีกรรมที่โบสถ์เป็นประจำ จึงเป็นพื้นที่แห่งความเสี่ยงของการแพร่เชื้อไวรัส COVID-19 ได้ ไปโดยปริยาย ซึ่งทางโบสถ์ก็ได้ออกประกาศให้เหล่าสาวกได้ทราบโดยทั่วกันว่า “ถ้าใครมีอาการป่วย ให้แจ้งทางสตาฟและกักตัว เพื่อสังเกตอาการที่บ้าน”

ทว่า ไม่มีอะไรมาขวางกั้นความศรัทธาของผู้คนได้ เมื่อการจัดกิจกรรมยังคงดำเนินต่อไป โดยลักษณะของการร่วมกิจกรรมนี้ คือ การให้สาวกทุกคนที่มาร่วมกิจกรรมมายืนรวมกันแบบใกล้ชิดมากๆ เพื่อร้องเพลงให้เสียงดังที่สุด โดยจากรายการที่นำเสนอผ่านทางสถานีโทรทัศน์ของเกาหลีใต้ก็แสดงให้เห็นว่า การร่วมพิธีกรรมนั้น ผู้เข้าร่วมจะต้องยืนชิดกันมากชนิดที่เรียกได้ว่าหายใจรดต้นคอกันได้ทีเดียว

เมื่อเป็นเช่นนี้ ลองจินตนาการดูว่า ถ้ามีสาวกแค่เพียงสักคนที่ติดเชื้อ COVID-19 แล้วมาร่วมพิธีกรรมนี้ เจ้าเชื้อไวรัสอหังการตัวนี้จะแพร่ไปได้รวดเร็วขนาดไหน คงไม่ต้องบอก

และจากรายงานข่าวผ่านสื่อต่างๆ ก็เล่าต่อว่า คุณป้า ผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายที่ 31 ก็มีอาการไอจามมาตั้งแต่ก่อนไปร่วมกิจกรรมแล้ว แต่ด้วยคุณป้าคิดว่า “ชั้นแค่เป็นหวัดน่า ไม่ใช่ COVID-19 หรอก” คุณป้าจึงมาร่วมกิจกรรมที่โบสถ์ของลัทธิตามปกติ

และด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือ ความประมาทในชีวิต ใดๆ ก็ไม่อาจรู้ได้ของคุณป้า เมื่อรู้สึกไม่สบายก็ไม่ได้ไปหาหมอเพื่อให้ตรวจรักษา แต่กลับใช้ชีวิตตามปกติ ทั้งเดินทางไปงานแต่งงานกับเพื่อน นั่งรถไปกรุงโซล เมืองหลวงของเกาหลีใต้

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา คุณป้าได้เกิดอุบัติเหตุรถชน และต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล พร้อมกับอาการไอ มีไข้ หายใจหอบเหนื่อย ที่ยังไม่หาย โดยระหว่างแอดมิทในโรงพยาบาล คุณหมอเจ้าของไข้ ได้ตรวจพบว่าคุณป้ามีอาการปอดบวมชัดเจน จนคุณหมอขอให้ตรวจว่าติดเชื้อ COVID-19 หรือไม่ แต่คุณป้าก็ยังไม่ยอมให้ตรวจด้วยเหตุผลเพียงว่า เธอไม่ได้เดินทางไปต่างประเทศ จะไปติดไวรัสตัวนี้ได้อย่างไรกัน

เมื่อคนไข้ไม่ยอมตรวจ คุณหมอก็จำต้องรักษาตามอาการด้วยการให้ยาฆ่าเชื้อไป จนล่วงเลยมาถึงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ที่อาการคุณป้าทรุดลง เธอเลยยอมให้คุณหมอตรวจแต่โดยดี และเป็นอย่างที่คิด คุณป้าเป็น ผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายที่ 31 ของเกาหลีใต้ ไปเรียบร้อยและนอกจากนั้นแกยังกลายเป็น super spreader ทำให้ไวรัสลุกลามไปยังบุคคลที่เกี่ยวข้องอีกด้วย

SUPER SPREADER ‘ผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายที่ 31’ ของเกาหลีใต้ บทเรียนครั้งสำคัญ บอกอะไรคนทั่วโลก

ที่เล่ามาทั้งหมด ก็เพื่อนำมาสู่การวิเคราะห์บทเรียนเหนือความคาดหมาย เกินกว่าที่บุคลากรในวงการสาธารณสุขจะคาดเห็นได้ กับปรากฏการณ์การแพร่เชื้อ COVID-19 ในประเทศเกาหลีใต้ที่เร็วและแรงยิ่งกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นในประเทศใดๆ ในโลก

หลังจากตรวจพบ ผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายที่ 31 แล้ว หายนะก็เกิดขึ้นตามมาเหมือนฝูงซอมบี้ ทะลักบนขบวนรถไฟในภาพยนตร์ Train to Busan ก็ไม่ปาน

เพราะหลังจากรู้ผลการวินิจฉัยของคุณป้า ก็ตรวจพบว่ามีชาวเกาหลีที่มีอาการต้องสงสัยติดเชื้อ COVID-19 เกิดขึ้นอีกหลายสิบคน และจากสิบ ก็กลายเป็นร้อย โดยความน่ากลัวของมหันตภัยนี้คือ เมื่อสืบสาวกลับไปแล้ว ผู้ป่วยหลายสิบคน ล้วนเกี่ยวข้องและมีปฏิสัมพันธ์กับคุณป้าผู้ติดเชื้อ COVID-19 คนที่ 31 นี้แทบทั้งสิ้น

ไม่ว่าจะเป็นสาวกลัทธิเดียวกัน ร่วมเข้าโบสถ์ทำกิจกรรมด้วยกัน ไปร่วมงานแต่งงานงานเดียวกัน กระทั่งเป็นผู้ที่มารับบริการทางการแพทย์ หรือเป็นคนไข้ในโรงพยาบาลแห่งเดียวกับที่คุณป้าท่านนี้แอดมิทตอนเกิดอุบัติเหตุรถชน

จากแถลงการณ์ของ KCDC หน่วยงานควบคุมโรคของเกาหลีใต้ พบว่า คนที่ปฏิสัมพันธ์และมีโอกาสสัมผัสโรคกับคุณป้าคนนี้ มีถึง 1,160 คน

ปฏิบัติการ วัวหายล้อมคอก น่าจะเป็นทางเลือกทางรอดที่ทางการเกาหลีใต้ทำอยู่ในตอนนี้

ไม่ว่าจะเป็น การสั่งให้คนที่มีประวัติสัมผัสคุณป้าทุกคน กักตัวเองดูอาการที่บ้าน และให้รีบตรวจหาเชื้อทันที ส่วนห้างสรรพสินค้าต่างๆที่คุณป้าเคยไปเดินช้อป ไม่ว่าจะห้างฮยอนเด หรือห้างดงอา สาขาเมืองแทกู ก็ประกาศปิดชั่วคราวแล้ว เช่นเดียวกับโบสถ์ที่คุณไปร่วมกิจกรรมบ่อยๆ ก็โดนสั่งปิดชั่วคราวด้วย

บทเรียนที่ได้จาก คุณป้าผู้ติดเชื้อ COVID-19 คนที่ 31 ของเกาหลีใต้ คือ สถานการณ์การแพร่กระจายของเชื้อจากโรคระบาด สามารถเกิดขึ้นโดยบุคคลที่ติดเชื้อแค่คนเดียว ที่อยู่ในฐานะ super spreader หรือผู้กระจายเชื้อสู่คนจำนวนมาก

ดังนั้น ในขณะที่ หน่วยงานที่รับผิดชอบกำลังตั้งรับกับกลุ่มคนจำนวนมากจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ที่เดินทางเข้ามาในประเทศจากทุกทิศทุกทาง รวมถึงชาวไทยเอง ที่เดินทางกลับมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง กันอย่างแข็งขัน ก็อย่าหลงหลืมหรือละเลยเข้มงวดกับบุคคลที่อาจไม่ให้ความร่วมมือ หรือดื้อดึง ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนการเฝ้าระวังโรค เพราะไม่แน่ จะเข้าตำรา ปลาเน่าตัวเดียว ทำปลาทั้งข้องเน่าไปด้วยทั้งหมด

ส่วนภาคประชาชน ในช่วงเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 นี้ ก็ควรให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ด้วยการดูแลสุขภาพตัวเอง หมั่นสังเกตอาการทั้งของตนเองและคนรอบข้างว่ามีอาการเสี่ยง โรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส COVID-19 นี้หรือไม่ ถ้าเข้าข่ายก็อย่ารีรอที่จะไปตรวจและบอกประวัติและข้อมูลตามจริงแก่เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ เพื่อหาทางป้องกันและรักษาอย่างตรงจุด ไม่ให้เชื้อกระจายไปในวงกว้างแบบ เคสคุณป้าผู้ป่วยรายที่ 31 ของเกาหลีใต้นี้

เพราะจากรายงานข่าวอัปเดตล่าสุด เรื่องแดงขึ้นมาว่า คุณป้าท่านนี้ มีประวัติเดินทางไปเมืองอู่ฮั่นเมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ไหนบอกว่าไม่เคยเดินทางไปต่างประเทศช่วงนี้จะติดไวรัสได้อย่างไร?… ความจริงมีเพียงหนึ่งเดียวเป็นแน่แท้

ช่วงเวลาแห่งการรู้ทันข่าวร้าย ใช้เป็นบทเรียน เสพข่าวดี ต่อยอดไปสู่การรับมือ COVID-19 ที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

สำหรับสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ยังคงเป็นข่าวคราวที่พวกเราต้องตามติด ไม่ใช่แค่ในประเทศเกาหลีใต้ แต่ตอนนี้ข่าวสารได้นำเสนอแง่มุมของการระบาดไปทั่วโลก จุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้คนรู้เท่าทัน ไม่ประมาท และดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันตนเองจากการติดเชื้อ

โดยที่ผ่านมาในบริบทของมาตรการการรับมือกับการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในประเทศไทยเอง ก็นับว่ามีประสิทธิภาพ ด้วยการการันตีล่าสุดจากเว็บไซต์ Statista ที่จัดอันดับให้ประเทศไทย เป็นประเทศที่สามารถควบคุมและรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ได้ดีติดอันดับ top 10 ของโลก

ในมุมมองของ เจ้าของ Facebook : Book Pattaranit บุคลากรทางการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อ หรือ infectious disease specialist ประจำ รพ.ศูนย์ขอนแก่น ได้โพสต์ให้ความรู้ในเรื่องของหลักการควบคุมและรับมือกับโรคระบาดไว้อย่างน่าสนใจว่า

“ที่ผ่านมา มีคนสงสัยเยอะทั้งหมอและคนทั่วไปว่าทำไมไทยรับมือควบคุมเคส COVID-19 ได้ค่อนข้างดี เมื่อเทียบกับประเทศที่มีความก้าวหน้าทางการแพทย์มากกว่า เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ทั้งๆ ที่เรามีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศเป็นจำนวนมาก”

ในความเห็นผม คิดว่ามาจากปัจจัยต่างๆ ดังนี้

 - เพราะประเทศไทยมีคนเดินทางมาจากทั่วโลก เพื่อติดต่อทำธุรกิจ และเดินทางมาท่องเที่ยวอย่าวล้นหลามมาตั้งแต่อดีตแล้ว ทำให้เราเผชิญความเสี่ยงต่อโรคติดเชื้ออุบัติใหม่มากเป็นพิเศษ เหล่าปรมาจารย์และบุคคลสำคัญในกระทรวงจึงมีการเซ็ตระบบเอาไว้เพื่อรับมือมานานแล้วและปรับปรุงพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ทุกระลอกที่มีภัยคุกคามเข้ามาเช่น SARS , H1N1 2009 , MERS-CoV ก็ควบคุมไว้ได้หมด

 - ระบบคัดกรองที่สนามบินที่มีประสิทธิภาพ แม้จะผ่านระบบคัดกรองมาได้ แต่ก็มีระบบติดตาม เมื่อพบว่านักเดินทางท่านใดมีอาการ ก็มีระบบเข้าตรวจสอบอย่างรวดเร็ว ประสานจากทีมบริหารลงมาทีมสถานพยาบาล ทีมแล็บจึงทำได้อย่างรวดเร็ว

 - ทั้งการเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างรวดเร็วและฟรีของคนไทย ส่วนในเคสของชาวต่างชาติก็มีราคาไม่แพงมาก และมีสถานบริการทางการแพทย์ทุกระดับ ตั้งแต่ระดับปฐมภูมิถึงตติยภูมิ ทั้งรัฐและเอกชน ซึ่งสามารถประสานงานกันอย่างรวดเร็ว

“นี่เป็นเหตุผลที่ผมคิดว่าทำให้คนทั่วไปกล้าจะรีบไปตรวจเมื่อมีอาการอยู๋ในข่ายน่าสงสัย ซึ่งยังอยู่ในระยะที่ยังเป็นไม่มาก สมมติถ้าเป็นประเทศที่ในการจะพบหมอต้องรอคิวหลายวันหรือเสียเงินเป็นพันเป็นหมื่นในการตรวจรักษา คนไข้อาจจะนึกว่า “น่าจะยังไม่มีอะไรมั้ง รอดูก่อน ไป รพ. แล้วเสียเงินเยอะ” ทำให้ไม่ไปตรวจเช็คก็เป็นได้”

“ขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพกัน อย่างเมื่อวาน หกโมงเย็น มีเคสต้องสงสัยเข้ามาตรวจที่ รพ. สามเคส โดยที่ทั้งสามเพิ่งมีอาการ 1-2 วัน แต่มีประวัติสัมผัสเสี่ยงเข้าเกณฑ์ตรวจสอบ ระบบก็ alert ทันที ส่งคนไข้ทั้ง 3 เข้าห้องความดันลบแยก ทีมแพทย์ ทีมพยาบาล ทีมเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทีมเจ้าหน้าที่แล็บ ประสานงานกันทันที”

“จากนั้น ผมอาสาเป็นมนุษย์อวกาศเข้าไปเก็บตัวอย่าง ส่งแล็บ PCR ไปตอนหกโมงเย็น เที่ยงคืนได้ผลแล้ว ผลเป็นลบทั้งสามคน ตอนเช้าจึงอนุญาตให้กลับบ้านได้ จากนั้นเตรียมห้องพร้อมสำหรับเตรียมรอรับผู้ต้องเฝ้าระวังรายต่อไปได้”

“นี่แค่ตัวอย่างเล็กๆจากหน่วยบริการส่วนภูมิภาค ยังไม่รวมเหล่าผู้ทำงานที่หน้าด่านและสถาบันเฉพาะทางหลายแห่งในส่วนกลาง เช่น สถาบันบำราศนราดูรฯ”

“ผมจึงอยากให้ #เชื่อมั่นและให้กำลังใจผู้ทำงานควบคุมโรคของไทยกัน”




ขอบคุณ
ข้อมูล และภาพ : salika