เขียนเมื่อ : วันอังคาร ที่ 18 เดือน ธันวาคม พ.ศ.2561 | อ่านแล้ว : 1,207 ครั้ง

ดื่มน้ำแร่ประจำ ทำให้เป็นนิ่วได้จริงไหม?


เชื่อเลยว่ามีหลายคนไม่กล้าดื่มน้ำแร่ เพราะคิดว่าถ้าดื่มน้ำแร่ประจำจะทำให้มีแร่ธาตุไปสะสมในกระเพาะปัสสาวะ จนเป็นนิ่วเอาได้ง่ายๆ แต่ความเชื่อนี้จริงเท็จแค่ไหน ทีมงานชาพระจันทร์ยิ้มนำข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มาบอกให้คลายสงสัยแล้วค่ะ

น้ำแร่ ก็คือน้ำที่ได้จากแหล่งธรรมชาติ เช่น น้ำพุร้อน ซึ่งมีแร่ธาตุละลายอยู่ในน้ำหลายชนิด เช่น น้ำแร่ไบคาร์บอเนต (Bicarbonate waters) น้ำแร่ซัลเฟต (Sulfate water) น้ำแร่ซัลเฟต-ไบคาร์บอเนต (Sulfate-bicarbonate waters) น้ำแร่แคลเซียม (calcium water) เป็นต้น ซึ่งแต่ละชนิดให้ประโยชน์ที่แตกต่างกันและมีรสชาติต่างกันไปด้วย อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ว่าทุกคนจะดื่มน้ำแร่ได้และไม่ใช่ทุกคนที่ดื่มน้ำแร่แล้วจะได้ประโยชน์ เพราะมีคนบางกลุ่มที่หากดื่มน้ำแร่โดยไม่ระวังอาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้ นั่นก็คือ

- ผู้ที่บวมน้ำ ผู้ป่วยโรคไต ผู้ที่มีการทำงานของหัวใจไม่ดี ไม่ควรดื่มน้ำแร่ทุกชนิด

- ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ไม่ควรดื่มน้ำแร่ที่มีปริมาณโซเดียมสูง

- ผู้ที่มีการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารปริมาณมาก มีแผลในกระเพาะอาหารไม่ควรดื่มน้ำแร่เกลือโซเดียมคลอไรด์ (Sodium chloride waters)

- ผู้ป่วยที่มีโรคทางระบบทางเดินหายใจที่มีภาวะหลอดลมหดเกร็ง ไม่ควรดื่มน้ำแร่ซัลเฟอร์ (Sulfurous waters)

- ผู้ป่วยที่มีภาวะ gastric hypochilia ไม่ควรดื่มน้ำแร่ไบคาร์บอเนต (Bicarbonate waters)

- ผู้ป่วยที่มีโรคที่เกี่ยวกับทางเดินอาหารและมีแผลในทางเดินอาหาร ไม่ควรดื่มน้ำแร่ซัลเฟต (Sulfate waters)


ทำอย่างไรไม่ให้เป็นนิ่ว หากไม่อยากเป็นนิ่วก็มีคำแนะนำในการปฏิบัติตัวตามนี้เลย
1. ดื่มน้ำสะอาด (RO) ให้ได้มากกว่าวันละ 8 แก้ว หรือ 2 ลิตร เพื่อลดโอกาสการก่อผลึกนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ
2. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีสารอาหารครบถ้วนและสัดส่วนที่เหมาะสม
3. หลีกเลี่ยงอาหารหวานมาก เค็มมาก
4. หลีกเลี่ยงหรือลดอาหารที่มีกรดยูริกสูง เช่น หนังสัตว์ปีก ตับ ไต
5. หลีกเลี่ยงหรือลดอาหารที่มีออกซาเลตสูง เช่น ใบชะพลู หน่อไม้ ผักโขม หัวไชเท้า ขึ้นฉ่าย คะน้า มะเขือ แครอท แอปเปิล เบียร์ น้ำอัดลม ใบชา กาแฟ โกโก้



ขอขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา