เขียนเมื่อ : วันจันทร์ ที่ 26 เดือน พฤศจิกายน พ.ศ.2561 | อ่านแล้ว : 897 ครั้ง

สารพิษในผักที่ร่างกายมีโอกาสได้รับ หากล้างผักไม่ดี


เราทุกคนต่างทราบกันดีอยู่แล้วว่าผักมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ ทานแล้วดีต่อสุขภาพ แต่รู้กันไหมว่าในผักนั้นก็มีสารพิษเช่นกัน หากไม่รู้จักล้างและทำความสะอาดให้ดีก่อนนำมาปรุงอาหาร เมื่อทานเข้าไปแล้วก็จะทำให้สารพิษเหล่านั้นเข้าไปสะสมในร่างกายก่อให้เกิดโรคต่างตามมา

1.เชื้อแบคทีเรีย
ปัญหาที่เชื้อแบคทีเรียหรือตัวเชื้อโรคปนเปื้อนลงในผักนั้น อาจเกิดมาจากขั้นตอนการผลิต การเก็บ การปรุงและการจำหน่าย ที่ไม่ถูกสุขลักษณะ นับตั้งแต่ภาชนะที่ใช้บรรจุ พาหนะที่ใช้ขนส่งไม่สะอาดเพียงพอ ไม่มีการปกปิด ตลอดจนสุขวิทยาส่วนบุคคลของคนงานที่ไม่ถูกต้อง นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่เราสามารถพบเห็นได้ทั่วไป คือ การวางจำหน่ายผักบนพื้นดินที่มีผู้คนเดินผ่านไปผ่านมาเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เชื้อโรคปนเปื้อนในผักได้ทั้งโดยทางตรงหรือผ่านสื่อต่างๆ เช่น ผู้สัมผัส ภาชนะอุปกรณ์ ตัวอาหาร สถานที่ รวมทั้งแมลงและสัตว์นำโรคต่างๆ

2.เชื้อไวรัส
ผักที่ล้างไม่สะอาดหรือมีแมลงวันตอมก็อาจจะพบเชื้อไวรัส ซึ่งเป็นเชื้อโรคที่มีขนาดเล็กที่สุดได้ ตัวอย่างเช่น โรคไขสันหลังอักเสบ (โปลิโอ) โรคตับอักเสบ เป็นต้น

3.เชื้อรา
ผักบางชนิดจัดอยู่ในประเภทอาหารแห้งด้วย เช่น พริก หอม กระเทียม เมื่อได้รับความชื้นที่พอเหมาะ เชื้อราก็จะเจริญเติบโตได้ดีและสร้างสารพิษที่เรียกว่าอะฟลาทอกซิน ซึ่งไม่สามารถทำลายด้วยความร้อนขนาดหุงต้มได้และหากเกิดการสะสมในร่างกายมากก็จะทำให้เป็นมะเร็งที่ตับได้

4.พยาธิ
เกษตรกรที่นิยมใช้อุจจาระสดเป็นปุ๋ยรดผักเพื่อให้ผักเจริญงอกงามดี ถ้าอุจจาระสดนั้นมีไข่พยาธิปะปนอยู่ คนที่บริโภคผักที่ล้างไม่สะอาดหรือปรุงไม่สุก ไข่พยาธิก็จะเจริญเป็นตัวอ่อนอยู่ในลำไส้เล็กและเป็นตัวแก่อยู่ในลำไส้ใหญ่ในที่สุดไข่พยาธิก็จะออกมากับอุจจาระอีก ตัวอย่างเช่น โรคพยาธิเส้นด้าย พยาธิแส้ม้า พยาธิไส้เดือน

5.ยาฆ่าแมลง
ทุกวันนี้เราบริโภคผักกันเป็นจำนวนมากทั้งในรูปของผักสดและผักแปรรูป ตลอดจนบรรจุเป็นอาหารกระป๋องจำหน่ายเป็นสินค้าออกต่างประเทศ ทำให้เกษตรกรที่ใช้ยาฆ่าแมลงปราบศัตรูพืชเก็บเกี่ยวผลผลิตของตนออกสู่ท้องตลาดก่อนถึงกำหนดวันเก็บ เพื่อให้ได้ราคาดีและทันต่อความต้องการของตลาด เนื่องจากผักส่วนมากมีเนื้อเยื่ออ่อนมากและมีน้ำอยู่ในลำต้นมาก จึงทำให้พบสารพิษฆ่าแมลงตกค้างบนผักเป็นจำนวนมาก โดยสาขาวิจัยวัตถุมีพิษกรมวิชาการเกษตรพบสารพิษตกค้างด้วยเหตุนี้ในบางประเทศจึงได้มีกฏหมายกำหนดค่าปลอดภัยของสารพิษฆ่าแมลงตกค้างบนผักไว้โดยให้ใช้ขนาดที่ถูกต้อง และทิ้งระยะเวลาของการฉีดครั้งสุดท้ายกับการเก็บผักไปขายให้นานพอที่สารพิษฆ่าแมลงตกค้างเหล่านั้นสลายตัวหมด



ขอบคุณข้อมูลจาก : หมอชาวบ้าน